หลังกรณีศาลฎีกายกฟ้องคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ HRW ประณามเป็นการปล่อยคนผิดลอยนวล
ยังอยู่ในควันหลงหลังศาลฎีกายกฟ้องอภิสิทธิ์ - สุเทพ คดีสลายชุมนุมนปช. ปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมกา ชี้เป็นหน้าที่ ป.ป.ช. ชี้มูล เพื่อส่งฟ้องศาลฎีกานักการเมือง จนสร้างความไม่พอใจให้ญาติผู้เสียชีวิตและได้มีกิจกรรมรำลึกที่สี่แยกราชประสงค์ในคืนวันตัดสินคดี
ต่อมาได้มีการแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า กรณีนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพรอดพ้นจากความรับผิด นับเป็นความเสื่อมถอยอย่างร้ายแรงของความยุติธรรมในประเทศไทย ล่าสุดนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมให้สัมภาษณ์หลังคำพิพากษาว่า เป็นการทำไปตามขั้นตอนและหลักการปกติ จากนี้คดีนี้จะไปอย่างไรต่อไป?
ไทยกำลังสร้าง "วัฒนธรรมคนผิดที่ไม่ต้องรับโทษ"
ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวถึงปัญหาของคดีลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ว่ามีกระบวนการสองขั้นตอนในการฟอกความผิด ขั้นตอนแรกทุกๆ รัฐบาล ตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-พล.อ.ประยุทธ์ มีการกันกองทัพออกไปจากการสอบสวนเพื่อเอาผิดทางอาญา โดยอ้างว่าทหารทำตามคำสั่ง ส่วนที่สอง คือ คำวินิจฉัยของศาล และ ปปช. ที่มีผลในทางฟอกขาวผู้ที่มีอำนาจสั่งการ ซึ่งประกอบด้วย อภิสิทธิ์-สุเทพ-พล.อ.อนุพงษ์ ผลที่เกิดขึ้นตามมานั้นเรียกได้ว่าเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดในสังคมไทย ที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยสามารถเอาผิดทางอาญาต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ เพราะการนิรโทษกรรมตัวเองก็ดี หรือการใช้กระบวนการฟอกขาวดังกล่าวก็ดี
เมื่อให้เปรียบเทียบกับกรณีที่มีการยื่นอุทธรณ์ของป.ป.ช.ให้เอาผิดกับ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เพียงคนเดียวในเหตุสลายการชุมนุม พธม. 7 ตุลาคม 2551 สุณัยมองว่ายิ่งเป็นการสะท้อนการไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน เพราะปล่อยให้ผู้บัญชาการกำลังทหาร อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประยุทธ์ ลอยนวลในเหตุการณ์ปี 2553 แต่กลับมาไล่บี้จะเอาผิดกับผู้บัญชาการกำลังตำรวจ อย่าง พล.ต.ท.สุชาติ ในเหตุการณ์ปี 2551
สุณัยมองว่าในกรณีสลายการชุมนุม 2553 มีประเด็นที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการปรองดองได้เคยนำเสนอแล้วว่า การสลายการชุมนุมตามคำสั่งของ ศอฉ. ที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้น โดยมีสุเทพเป็นผู้สั่งการในปี 2553 นั้นไม่ได้ทำตามหลักสากลจากเบาไปหาหนักตามหลักสากลตามคำกล่าวอ้างของ ศอฉ. และตามที่ ปปช. วินิฉัย โดยเฉพาะกรณีที่ใช้หน่วยแม่นปืนซุ่มยิงนั้นไม่ได้เป็นการยิงสกัด หรือยิงขู่ หลักฐานที่พบ คือ ยิงเข้าจุดสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต โดยผู้ที่ถูกยิงไม่ได้มีอาวุธติดตัว หรือกำลังจะทำร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
สำหรับการที่จะใช้กระบวนการระดับโลกในการต่อสู้นั้น ทางสุณัยกล่าวว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากว่าไทยลงนามใน "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" หรือ ICC จริง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการให้สัตยาบันข้อตกลงดังกล่าวเพื่อผลผูกพัน สิ่งที่ทำได้จริง คือ การเตือนความจำสังคมไทย และประกาศในชาวโลกได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของเหตุการณ์รุนแรง และบทบาทของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปร่วมเวทีระดับโลกจะมีการให้ข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ว่าบุคคลผู้นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสังหารประชาชน