ไม่พบผลการค้นหา
สำนักการโยธา กทม.ชี้แจงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ไม่ได้กีดขวางการระบายน้ำ ตามที่คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวอ้าง

สำนักการโยธา กทม.ชี้แจงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ไม่ได้กีดขวางการระบายน้ำ ตามที่คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวอ้าง

นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ชี้แจงประเด็นการดำเนินโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตามที่คอลัมนิสต์กะบังลม นสพ.ผู้จัดการรายวัน กล่าวถึงการดำเนินโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ว่า “…ไม่ควรมีการกีดขวางทางระบายน้ำ พร้อมย้อนแย้งว่าโครงการดังกล่าวขัดแย้งกับแนวทางของ กทม. ที่ไปรุกไล่ที่อยู่อาศัยคนจนบริเวณริมคลองต่างๆ รวมทั้งเห็นว่าการให้ข้อมูลของ กทม.ที่ระบุว่าระดับทางเลียบแม่น้ำที่สร้างขึ้นพ้นจากระดับน้ำสูงสุดใน 50 ปีนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณน้ำเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้”   

ซึ่งทางสำนักการโยธา กทม.ได้ชี้แจงว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ไม่ได้กีดขวางการระบายน้ำแต่อย่างใด โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาผลกระทบในทุกด้าน ทั้งผลกระทบด้านชลศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ การเดินเรือ รวมถึงผลกระทบด้านวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบโครงการอย่างรอบด้านตามหลักวิชาการแล้วว่า การพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเกิดขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิถีชีวิต การประกอบธุรกิจ การประกอบอาชีพ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ในส่วนของรูปแบบโครงการจะมีทั้งการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและจัดทำทางเดินริมแม่น้ำบนฝั่ง เช่น บริเวณใต้สะพานพระราม 8  แต่เนื่องจากไม่มีนโยบายในการเวนคืนพื้นที่ริมน้ำที่เป็นของเอกชน จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบทางเดินริมน้ำยื่นไปในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะมีเพียงโครงสร้างเสาเข็มเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 ซม.  ระยะห่างประมาณ 15 เมตร ที่จำเป็นต้องก่อสร้างในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งได้มีการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางชลศาสตร์แล้ว พบว่าการตอกเสาเข็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตามรูปแบบดังกล่าว จะไม่กระทบต่อการไหลของน้ำ หรือการกีดขวางทางระบายน้ำ ตลอดจนไม่มีผลกระทบต่อการยกตัวของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
 
ในส่วนของประเด็นที่ว่าโครงการดังกล่าวขัดแย้งกับแนวทางของ กทม.ที่ไปรุกไล่ที่อยู่อาศัยคนจนบริเวณริมคลองต่างๆ นั้น สำนักการโยธา กทม. ชี้แจงว่า แม้ว่าการดำเนินงานโครงการฯ จำเป็นต้องมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 273 หลังคาเรือน แต่กรุงเทพมหานครก็ไม่ได้มีการขับไล่หรือไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชุมชนแต่อย่างใด โดยมีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลโครงการ ตลอดจนเจรจาพูดคุย และทำความเข้าใจกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบมาโดยตลอดกว่า 2 ปี ซึ่งชุมชนและประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ให้ความร่วมมือและยินยอมรื้อย้ายบ้านเรือน เนื่องจากทราบดีว่าได้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย และมีความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในค่ารื้อย้ายและที่อยู่อาศัยที่ถาวร เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการกำหนดแนวทางให้ช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยกรุงเทพมหานครได้กำหนดเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดหาที่อยู่อาศัยให้ตามความสมัครใจ ซึ่งปัจจุบันมีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทำการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออก พร้อมรับเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 83 หลังคาเรือน ประกอบด้วย ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนท่าเรือเกียกกาย ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี ชุมชนวัดสร้อยทอง ในส่วนของชุมชนที่เหลือคาดว่าจะรื้อย้ายและจ่ายเงินช่วยเหลือแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2560 
 
ส่วนที่ระบุว่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับทางเดินเลียบแม่น้ำที่สร้างขึ้นพ้นจากระดับน้ำสูงสุดใน 50 ปี เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณน้ำเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้น ในกรณีดังกล่าว สำนักการโยธา กทม. ยืนยันว่าการกำหนดระดับทางเดินของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการกำหนดโดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีวัดต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และกรมชลประทาน ย้อนหลัง 50 ปี  โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลทางสถิติที่เป็นข้อมูลที่แท้จริงที่ได้มีการเก็บรวบรวมเอาไว้ มีแหล่งที่มาสามารถอ้างอิงได้ ไม่ใช่ข้อมูลเท็จตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โครงการเจ้าพระยา 14 กม. 'ต่อม่อลงแม่น้ำแน่นอน'
เปิดโมเดล 12 แผนงาน 'ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา'
กทม. รื้อบ้านริมน้ำ สัญญาณเดินหน้า 'ทางเลียบเจ้าพระยา'


ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กทม.

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog