ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงนับวันรอที่จะได้ใช้สิทธิกำหนดอนาคตของตัวเองผ่าน “หีบบัตรเลือกตั้ง” แต่ข่าวร้ายก็คือนับวันอำนาจดังกล่าว กลับยิ่งหลุดลอยจากมือของพวกเราไปทุกๆ ที
หากถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญก็คือวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่ในการออกเสียงมติรัฐธรรมนูญ ผลออกมาว่า เสียงใหญ่ 16.8 ล้านเสียงเห็นชอบกับกฎหมายสูงสุดที่ให้อำนาจกับรัฐราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาจำกัดอำนาจของผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง
แต่สิ่งที่น่าจะเป็นการ “ตอกฝาโลง” ได้แก่การออก พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ) ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” รวม 35 คน (จำนวนใกล้เคียงกับคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ซึ่งจะมีไม่เกิน 36 คน) ขึ้นมาวาง “พิมพ์เขียว” อนาคตของประเทศถึงยี่สิบปี ซึ่งในการประชุม ครม. สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์รวมแล้ว 29 คน
เมื่อพิจารณารายชื่อเหล่ากรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจากนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งหน้าใหม่หน่อย คนที่เหลือทั้ง 28 คน ต่างเคยทำงานให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของ ครม. คสช. สนช. สปช. สปท. ป.ย.ป. ไปจนถึงบางคนก็เคยเป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง ครม.ชุดปัจจุบัน ตั้งขึ้นมาแอบยกร่างยุทธศาสตร์ชาติไว้ตั้งแต่ปี 2558
อีกข้อค้นพบก็คือ ทั้งหมดเป็นผู้ชาย มีอายุรวมกันกว่า 1.8 พันปี หรือเฉลี่ย 63 ปี เรียกว่าพ้นวัยเกษียณไปกันหมดแล้ว นอกจากนี้เกินครึ่งยังเป็นทหารกับนายทุน (ทหาร 10 คน นักธุรกิจ 8 คน นักการเมือง 5 คน นักกฎหมาย 2 คน นักการศึกษา 2 คน และภาคประชาสังคมอีก 1 คน) ซึ่งหากยึดตามอายุขัยเฉลี่ยชายไทยปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 71 ปี ก็พอจะอนุมานได้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้ ไม่น่าจะมีใครอายุยืนจนถึงวันที่ “ยุทธศาสตร์ชาติ” บังคับใช้จนครบยี่สิบปีเลยแม้แต่คนเดียว !
และถึงคุณสมบัติ 3 ข้อข้างคน คือเป็น “ชายไทยวัยเกษียณ – ส่วนใหญ่เป็นทหารกับนายทุน – คนหน้าเดิมซ้ำๆ” จะไม่ชวนให้ร้องว้าวแต่อย่างใด แต่คนกลุ่มนี้นี่แหล่ะครับ ที่จะมาเป็นผู้กำหนดอนาคตของพวกเราไปอีก 20 ปี ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ”
และเป็นที่มาของชื่อบทความในวันนี้ ก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็น “ซูเปอร์ ครม.” ที่มีอำนาจเหนือ ครม.
เหตุใดถึงเป็นเช่นนี้ จะขอไล่เรียงให้เห็นเป็นข้อๆ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งน่าจะกินเวลาราว 11 เดือนเศษ ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกจะเสร็จสิ้นในยุครัฐบาล คสช. เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปในโลกอนาคตต้องเดินตาม
โอเค อาจมีผู้ทักท้วงว่า ใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ “เปิดช่อง” ให้ทบทวนทุกๆ 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์โลกหรือประเทศเปลี่ยนจนไม่สามารถทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้แล้ว แต่กระบวนการแก้ไขค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.จากสารพัดพรรค ตามเป้าประสงค์ของรัฐธรรมนูญ และ ส.ว. ที่มาจากกลุ่มอาชีพ ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นใคร (ไม่ต้องพูดถึง 5 ปีแรกที่หัวหน้า คสช.ตั้งมาทั้งหมด แปลว่าแก้ไม่ได้แน่ๆ)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดอยู่เสมอว่าการพัฒนาประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า จะต้อง “เดินตาม” ยุทธศาสตร์ ซึ่งตัวเองจะคอยนั่งคุมเกมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในฐานะผู้นั่งอยู่หัวโต๊ะ
นั่นแปลง่ายๆ ว่าต่อให้ตัวบิ๊กตู่ไม่ได้ “สืบทอดอำนาจ” จริงตามที่พูดไว้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม อย่างน้อยๆ เขาก็ยังสามารถ “สืบทอดภารกิจ” ให้คนอื่นต้องทำตามสิ่งที่ตนและพวกต้องการ ผ่านทาง “ยุทธศาสตร์ชาติ”
นี่คือประเทศไทย ในยุคที่เสียงของประชาชนด้อยความหมายลงไปทุกที และอนาคตของคนทั้งชาติก็ถูกกำหนดโดยคนหน้าเดิมๆ ซ้ำๆ เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น