ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยกลางข้ามญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่สกัดขีปนาวุธลูกนี้ แต่กลับปล่อยให้ขีปนาวุธลอยผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นไป และญี่ปุ่นมีศักยภาพแค่ไหนในการปกป้องตนเองจากขีปนาวุธ?

หลังจากที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยกลางข้ามญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่สกัดขีปนาวุธลูกนี้ แต่กลับปล่อยให้ขีปนาวุธลอยผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นไป และญี่ปุ่นมีศักยภาพแค่ไหนในการปกป้องตนเองจากขีปนาวุธ?

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยกลางฮวาซง 12 ข้ามเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมหลบภัยในกรณีฉุกเฉิน โดยหลังเหตุการณ์ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นออกมาประกาศว่า ญี่ปุ่นได้ทำทุกวิถีทางแล้วเพื่อปกป้องประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นำไปสู่คำถามว่า 'เพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่สกัดขีปนาวุธลูกนี้ขณะที่ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าญี่ปุ่น'? และ 'ญี่ปุ่นมีศักยภาพในการปกป้องตนเองจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือมากน้อยเพียงไร?'

แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาเปิดเผยว่า สาเหตุที่กองทัพญี่ปุ่นตัดสินใจไม่สกัดขีปนาวุธลูกนี้ เพราะขีปนาวุธลูกนี้ไม่เป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่น แต่เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทม์สได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่อ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพและความมั่นคงหลายคนที่ระบุตรงกันถึงปัญหาทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคสำคัญ กองทัพญี่ปุ่นเองมีเครื่องมือที่อาจทำได้ โดยใช้กองเรือพิฆาตเอจิส ซึ่งติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ MS-3 Block I และกองเรือนี้บังเอิญลาดตระเวนอยู่ในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างเกาหลีเหนือและญี่ปุ่นในจังหวะนั้นพอดี

แต่ระบบต่อต้านขีปนาวุธ MS-3 Block I ของญี่ปุ่นมีความเร็วน้อยกว่าขีปนาวุธฮวาซง-12 การจะยิงขีปนาวุธเกาหลีเหนือได้จะต้องยิงขณะที่มันลอยข้ามเรือพอดี ระบบต่อต้านขีปนาวุธ MS-3 Block I จะทำอะไรไม่ได้หากขีปนาวุธลอยข้ามกองเรือพิฆาตเอจิสไปแล้ว

เรือพิฆาตเอจิส

สำหรับญี่ปุ่น ข้อจำกัดในการตอบโต้ยังมีอีก แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีระบบต่อต้านขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่อากาศแพทริออท 3 หรือ PAC-3 ประจำการใน 3 จุด คือ จังหวัดชิมะเนะ ฮิโระชิมะ และโคะจิ แต่บนเกาะฮอกไกโดกลับไม่มี PAC-3 ประจำการอยู่

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่าแม้บนเกาะฮอกไกโดจะมี PAC-3 ประจำการ แต่ก็ไม่สามารถสกัดขีปนาวุธฮวาซง-12 ของเกาหลีเหนือได้ เนื่องจากขีปนาวุธลูกนี้ลอยบนฟ้าที่ระดับความสูงถึง 550 กิโลเมตร ซึ่งไกลเกินกว่าที่ PAC-3 จะสามารถสกัดได้

ระบบต่อต้านขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่อากาศแพทริออท 3 หรือ PAC-3

นักวิเคราะห์ยังระบุอีกว่า แม้ญี่ปุ่นจะมีกองเรือพิฆาตเอจิส ที่มีศักยภาพในการสกัดขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ แต่หากฝูงเรือพิฆาตถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น เช่น ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น หรือพื้นที่ใกล้เกาะกวมของสหรัฐฯ ก็จะส่งผลให้หลายพื้นที่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกาะฮอกไกโดไร้การป้องกันโดยสิ้นเชิง

นักวิเคราะห์ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่เกาหลีเหนือขู่ยิงขีปนาวุธใส่เกาะกวมของสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป 3,356.7 กิโลเมตร แต่กลับยิงขีปนาวุธข้ามเกาะญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิกในพื้นที่ห่างจากเกาหลีเหนือประมาณ 2,700 กิโลเมตร เป็นยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือในการเบี่ยงเบนความสนใจไปยังเกาะกวม เพื่อลดความเสี่ยงที่ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจะถูกสกัด และในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงแสนยานุภาพว่า เกาหลีเหนือสามารถยิงขีปนาวุธพิสัยกลางได้ไกลถึงเกาะกวม โดยไม่จำเป็นต้องเล็งยิงไปในทิศทางนั้น

เกาหลีเหนือขู่ยิงขีปนาวุธโจมตีเกาะกวมของสหรัฐฯ

เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่น ตกในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทม์สยังวิเคราะห์อีกว่า การทดสอบขีปนาวุธฮวาซง-12 ครั้งนี้ แตกต่างออกไปจากการทดสอบครั้งก่อนๆ เพราะขณะที่การทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางก่อนหน้านี้ เน้นการทดสอบเทคโนโลยีโดยรวม แต่การทดสอบเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการทดสอบระบบการย้อนกลับสู่บรรยากาศของโลก หรือระบบรี-เอนทรี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการยิงขีปนาวุธอย่างฮวาซง-12 เพราะจะต้องทำให้หัวรบที่ติดตั้งไปด้วยสามารถกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ในขณะที่ความแรงและอุณหภูมิอยู่ในระดับสูงมาก

ขีปนาวุธฮวาซง-12 ถูกออกแบบมาสำหรับการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และการทดสอบครั้งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จด้วยดี นักวิเคราะห์ระบุว่าขีปนาวุธสามารถรักษาองศาและวิถีการบินได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ แม้ต้องเผชิญกับแรงดึงดูดของโลกและสภาพอุณหภูมิร้อนจัดขณะรีเอ็นทรี แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า เกาหลีเหนือสามารถเก็บข้อมูลจากการทดสอบครั้งนี้ตามที่ต้องการได้หรือไม่ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่การทดสอบครั้งนี้จะนำไปสู่ก้าวต่อไปของการพัฒนาระบบรี-เอนทรี สำหรับขีปนาวุธข้ามทวีปบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ที่ยิงได้ไกลถึงสหรัฐฯ เพราะขีปนาวุธชนิดนี้จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเร็วกว่า และเผชิญกับความร้อนที่สูงกว่าขีปนาวุธพิสัยกลาง

ด้วยเหตุนี้เอง นิวยอร์ก ไทม์สจึงมองว่า การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ ไม่ใช่การข่มขู่ที่ไร้ความหมาย แต่เป็นการแสดงแสนยานุภาพที่เป็นจริง ทั้งนี้เพราะเกาหลีเหนือได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบก่อนดำเนินการเพื่อเอาชนะข้อจำกัดในด้านเทคนิคและทำให้การทดสอบประสบผล กลายเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า เกาหลีเหนือมีศักยภาพและพร้อมทุกเมื่อหากสหรัฐฯ ยังคงไม่หยุดท่าทีคุกคาม

นอกจากนี้ สำนักข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในวันที่ 9 กันยายนที่กำลังจะถึงนี้ เกาหลีเหนืออาจทำการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งที่ 6 เนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวันก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ และเมื่อปี 2015 เกาหลีเหนือเคยทดสอบนิวเคลียร์ในวันที่ 9 กันยายนมาแล้ว

เรียบเรียงโดย: สลิสา ยุกตะนันทน์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog