การเจรจาเบร็กซิทอย่างเป็นทางการเริ่มมาได้ 3 เดือนแล้ว ซึ่งฝ่ายเจรจาของอียูกำลังไม่พอใจข้อเสนอและการเจรจาของอังกฤษที่ล่าช้าและเรียกร้องให้อังกฤษช่วยเอาจริงเอาจังกับการเจรจาให้มากกว่านี้
การเจรจาเบร็กซิทเริ่มต้นอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะพบกันที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมเพื่อประชุมกันเดือนละครั้ง ครั้งหนึ่งจะประชุมกันนาน 1 สัปดาห์ โดยสัปดาห์นี้ตัวแทนการเจรจาเบร็กซิทของอังกฤษและอียูพบกันเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่ง นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป วิพากษ์วิจารณ์การเจรจาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือเบร็กซิท ว่าล่าช้า โดยระบุว่าเอกสารข้อเสนอต่างๆที่ทางอังกฤษเสนอมาจนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
นายยุงเกอร์ย้ำว่า การเจรจาเบร็กซิท ขณะนี้จะต้องมุ่งเน้นการเจรจาไปที่ 3 เรื่องแรกที่มีความสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือ 1. สิทธิของชาวอียูที่อาศัยอยู่ในอังกฤษซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งสิทธิของชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในอียูขณะนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป, 2. ค่าออกจากการเป็นสมาชิกของอียูที่อังกฤษจะต้องจ่าย, 3. ปัญหาเรื่องของเขตชายแดนของสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งหลังจากที่อังกฤษและอียูสามารถเจรจาตกลง 3 เรื่องนี้กันได้เรียบร้อยแล้ว จึงจะค่อยเจรจากันเรื่องข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่ระหว่างอังกฤษและอียู หลังจากที่อังกฤษออกจากอียูไปแล้ว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการเจรจาขณะนี้ก็คือ อังกฤษพยายามที่จะเจรจาเรื่องข้อตกลงทางการค้าหลังจากการออกจากอียูไปแล้ว พร้อมๆการเจรจาเงื่อนไข 3 ข้อก่อนออกจากอียู ซึ่งอียูไม่พอใจและยืนยันว่าจะไม่เริ่มเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าใดๆกับอังกฤษจนกว่าจะสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับเงื่อนไข 3 ข้อของการออกจากอียูของอังกฤษเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องค่าออกจากการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษ โดยยุงเกอร์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ค่าออกจากอียูของอังกฤษอาจสูงถึง 55,000 ล้านปอนด์ ซึ่งรัฐบาลของอังกฤษบอกไว้แล้วว่ารับไม่ได้
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษต่างแปลกใจที่นายยุงเกอร์ไม่ใยดีกับข้อเสนอของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้พิมพ์เอกสารที่แสดงแผนการของรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับเบร็กซิท ซึ่งอังกฤษเสนอให้ไม่มีการกีดกั้นสินค้าที่ขณะนี้อังกฤษและสหภาพยุโรปมีการส่งออกระหว่างกันอยู่แล้ว และสาเหตุที่อังกฤษทำการเจรจาเงื่อนไขการออกจากอียูและข้อตกลงทางการค้ากับอียูไปพร้อมๆกัน เพื่อให้การออกจากอียูเป็นไปตามกำหนดการและราบรื่น โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนน้อยที่สุด
แต่ทางอียูก็ไม่เห็นด้วย โดย นายมิเชล บาร์เนียร์ หัวหน้าการเจรจาเบร็กซิทของอียูระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่อังกฤษจะออกจากอียูโดยไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทันทีที่อังกฤศออกจากอียู ก็ย่อมจะมีสถานะเป็นประเทศที่สามที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอียู ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ เหมือนกับสหรัฐฯหรือจีน และได้บอกให้นาย เดวิด เดวิส รัฐมนตรีเบร็กซิทของอังกฤษให้ช่วยเจรจาแบบจริงจังได้แล้ว
ขณะที่นายเดวิสก็พยายามที่จะเจรจาให้อังกฤษยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ากับอียูต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้เศรษฐกิจของอังกฤษได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ปลายเดือนตุลาคมนี้ ประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ เพื่อตัดสินว่าการเจรจาเบร็กซิทมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของประชาชน และเรื่องการเงิน ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ อังกฤษก็น่าจะออกจากอียูได้ตามกำหนดการเดิมที่ตั้งไว้ในช่วงเดือนเมษายน 2019 แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะทำให้การ���อกจากอียูของอังกฤษล่าช้ามากขึ้น
เรียบเรียงโดย ชาญชัย ประทีปวัฒนะวงศ์