ไม่พบผลการค้นหา
กว่า 8 เดือนแล้วที่กิจการเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร ต้องหยุดชะงักลง  เพราะสาเหตุปมขัดแย้งในพื้นที่ โดยกลุ่มผู้ค้านเหมืองทอง ระบุนับตั้งแต่เหมืองหยุดกิจการ ชาวบ้านโดยรอบมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบทางเดินหายใจ  ฝั่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ขอรัฐอนุญาตเปิดเหมืองตามเดิม เพราะไม่ต้องการย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น

กว่า 8 เดือนแล้วที่กิจการเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร ต้องหยุดชะงักลง  เพราะสาเหตุปมขัดแย้งในพื้นที่ โดยกลุ่มผู้ค้านเหมืองทอง ระบุนับตั้งแต่เหมืองหยุดกิจการ ชาวบ้านโดยรอบมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบทางเดินหายใจ  ฝั่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ขอรัฐอนุญาตเปิดเหมืองตามเดิม เพราะไม่ต้องการย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น
        
สมพงษ์ อุติ อายุ 49 ปี ชาวบ้านหมู่ 8 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์  เฝ้าบ้านเลี้ยงดูแม่ที่แก่ชรา และเลี้ยงหลานที่น้องชายฝากไว้ให้ดูแล  เพราะต้องออกไปค้าขายต่างถิ่น หาเงินมาจุนเจือครอบครัว หลังขาดรายได้ประจำจากที่เคยได้รับทุกเดือน เพราะสมาชิก 3 คน ถูกเลิกจ้างจากเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกับพนักงานอีกกว่าพันชีวิตที่ต้องตกงาน  

หลังรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ส่งผลให้ต้องยุติการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 

สมพงษ์ เล่าว่า ตลอด 15 ปีที่ทำงานในฝ่ายผลิต ทำหน้าที่แยกสินแร่ในเหมืองทองคำ แต่ไม่เคยเจ็บป่วยหนัก สุขภาพยังแข็งแรงดี แม้ว่าเหมืองจะหยุดกิจการมากว่า 8 เดือน แต่ยังมีความหวังว่าจะได้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น อีกทั้งเงินชดเชยที่ได้ ลดลงทุกวัน

ส่วนร้านกาแฟ ร้านอาหารตามสั่ง ที่เคยเปิดหน้าบ้าน ห่างจากเหมืองกว่า 1 กิโลเมตร เพราะเป็นพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ทั้งพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ วันนี้ต้องถูกทิ้งร้าง ไม่มีเงินทุนมาเปิดต่อ เพราะไม่มีลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานในเหมือง เมื่อมีคนตกงาน หลายคนเลือกไปรับจ้าง ค้าขาย และย้ายถิ่นไปหางานใหม่  จนชุมชนรอบเหมือง เงียบเหงา  

ขณะที่ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำ หนึ่งในชาวบ้านพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ เล่าว่า ตลอด 8 เดือนที่ระงับการขุดทองคำ ทำให้ชาวบ้านรอบเหมือง มีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะระบบหายใจ หน้าตาสดใส ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่มีชาวบ้านล้มป่วย เสียชีวิต เพราะพบโลหะหนักในร่างกาย แม้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากเหมืองหรือไม่ แต่มั่นใจจะมีผลพิสูจน์ออกมาในเร็วนี้   

ส่วนกรณีไม่มีใบรับรองแพทย์ มายืนยันผลการตรวจเลือดหรือการเข้ารักษานั้น เนื่องจากแพทย์ในโรงพยาบาลในจังหวัด ไม่ออกใบรับรองให้

ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่เหมือง เพราะนับตั้งแต่หยุดดำเนินกิจการ ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล และขอให้ช่วยเหลืออพยพผู้ที่ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่ เพราะไม่ต้องการอาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมี แม้กิจการเหมืองทองคำ จะไม่สามารถเดินหน้าผลิตได้อีกก็ตาม

รายงานโดย เบญจมาศ วิถี


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog