ศาลระบุเป็นการให้ข้อมูลโดยไม่ผ่านการขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ผิดแนวปฏิบัติที่ป้องกันไม่ให้อังกฤษมีบทบาทสนับสนุนโอกาสการละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ ทั้งยังเป็นคดีที่มีการตัดสินประหารชีวิต อันเป็นบทลงโทษที่รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายคัดค้าน
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานเมื่อ 29 สิงหาคมว่า ศาลอังกฤษได้ไต่สวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ 2 นายที่เดินทางมาร่วมตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองคนที่เกาะเต่าที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2557 ได้ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ไทยในลักษณะที่ขัดกับระเบียบปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลนั้นอาจมีผลต่อการตัดสินของศาลไทยที่ให้ประหารชีวิตจำเลยชาวพม่าสองคนในคดีดังกล่าว
ตามแนวปฏิบัติของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ระบุไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับการลงโทษด้วยการประหารชีวิตในทุกกรณี ในขณะที่ศาลไทยตัดสินเมื่อปี 2558 ว่าชาวพม่าสองคนคือนายซอลิน และนายเวพิว มีความผิดฐานสังหารนายเดวิด มิลเลอร์และนางสาวฮันนา วิทเทอริดจ์ที่เกาะเต่า พร้อมทั้งตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิต
นสพ.การ์เดียนรายงานว่า ศาลสูงซึ่งเป็นผู้พิจารณากรณีนี้สรุปว่า เจ้าหน้าที่จากองค์กรปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติหรือ NCA ของอังกฤษ ได้มอบข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ของไทยถึง 5 ครั้ง และเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ได้ขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานต้นสังกัด รวมไปถึงจากรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน แต่เป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาต่อเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอังกฤษในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งถือว่าขัดต่อกฎเกณฑ์ของรัฐบาลในเรื่องนี้ที่เรียกว่า “แนวทางการช่วยเหลือเพื่อความยุติธรรมและความมั่นคงในต่างประเทศ” หรือ OSJG ที่มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษมีบทบาทช่วยเหลือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทางอ้อมในต่างประเทศ
รายงานของเดอะการ์เดียนระบุว่า เจ้าหน้าที่อังกฤษได้ให้ข้อมูลซึ่งรวมไปถึงเรื่องการใช้โทรศัพท์ของนายมิลเลอร์แก่พนักงานสืบสวนสอบสวนไทย ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยสามารถนำไปใช้เพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าเหยื่อและจำเลยอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทางด้านเจ้าหน้าที่เอ็นซีเอยอมรับกับศาลว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักเกณฑ์ของทางการจริง โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่อังกฤษมีความเข้าใจผิดว่า หากฝ่ายไทยจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในศาลก็จะร้องขออย่างเป็นทางการจากอังกฤษ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อาจเป็นไปได้ว่าจะได้มีข้อมูลที่ให้ความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการตัดสินลงโทษประหารชีวิต และ/หรือเข้าใจว่า โอกาสในอันที่จะมีการตัดสินลงโทษเช่นนี้อาจจะ “แตกต่าง” ไปจากโอกาสในอันที่จะมีการลงโทษจริง
ด้านตัวแทนกลุ่ม 'รีพรีพ' (Reprieve) องค์กรเพื่อความยุติธรรมทางสังคมในอังกฤษ ซึ่งจับตาคดีนี้ให้สัมภาษณ์การ์เดียนว่า มีหลักฐานว่ามีการเลือกสรรข้อมูลของเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ให้กับเจ้าหน้าที่ไทย เพราะเจ้าหน้าที่อังกฤษยังมีข้อมูลอีกบางอย่าง โดยเฉพาะข้อมูลที่มีน้ำหนักว่าเรื่องนี้อาจเป็นฝีมือของบุคคลอื่น แต่กลับไม่มีการส่งผ่านข้อมูลนี้ไปให้กับเจ้าหน้าที่ไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: