ไม่พบผลการค้นหา
ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดพิธีมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อที่จะส่งเสริมความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรมแต่ละภาษา ขณะที่ปีหน้าเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพต่อจากไทย

ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดพิธีมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อที่จะส่งเสริมความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรมแต่ละภาษา ขณะที่ปีหน้าเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพต่อจากไทย

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง จัดพิธีมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือเมอร์ลา (MERLA) ประจำปี 2560 ในวันนี้ (26 สิงหาคม) โดยมีนักเขียนที่ได้รับรางวัลจาก 6 ประเทศเข้าร่วมพิธีกันอย่างพร้อมหน้า ทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย และจีน ซึ่งนักเขียนจากจีนจะเน้นผู้ที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความผูกพันและเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง

บรรยากาศภายในงานมีการอ่านบทกวีและการแสดงวัฒนธรรม รวมถึงถ้อยแถลงของนางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมา สื่อหลายแขนงได้เผยแพร่ข่าวความขัดแย้งและการกีดกันสิทธิเสรีภาพทางสังคม รวมถึงการเหยียดหยามชาติพันธุ์กันอย่างมากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกระแสสำนึกผ่านงานวรรณกรรมต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่การให้เกียรติ ให้ความเท่าเทียม และงดแสดงทัศนะที่เหยียดหยามต่อความเป็นมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อช่วยป้องกันและเยียวยาความรู้สึกของคนในสังคมที่เลือกปฏิบัติให้ดีขึ้นได้

ส่วนนักเขียนจากไทยที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ นายวีรศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ซึ่งได้รับรางวัลประเภทร้อยแก้ว และนายเรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ จากประเภทร้อยกรอง โดยทั้งคู่ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงแม่น้ำโขงว่าเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่มีความสำคัญต่อคนใน 6 ประเทศมานาน แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อคนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเกิดขึ้น

นายวีระศักดิ์ระบุว่า "งานเขียนหรืองานวรรณกรรมเป็นอาวุธทางปัญญา" เพราะนักเขียนไม่มีอำนาจหรือปากกระบอกปืนที่จะไปบีบบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่สามารถสื่อสาร เล่าเรื่อง นำเสนอ และแลกเปลี่ยนกับสังคมได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านและคนในสังคมว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ผู้ที่มีจิตใจป็นธรรมและมองเห็นความสำคัญของชุมชนก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนนายเรวัตรกล่าวสนับสนุนวิถีชีวิตของคนในชุมชนริมน้ำที่พึ่งพาธรรมชาติได้โดยไม่ต้องอพยพเข้าเมืองหรือนิคมอุตสาหกรรม

"เวลานี้ปัญหาใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขงก็คือการระเบิดแก่ง เพื่อเปลี่ยนแม่น้ำให้เป็นทางเดินเรือ คนที่รู้จักแก่งเขาก็จะรู้ว่ามันสำคัญมากแค่ไหน ส่วนคนที่ไม่รู้จักแก่ง เขาก็อยากระเบิดทิ้ง เพราะฉะนั้น โอกาสที่เราได้มานำเสนอและแลกเปลี่ยนปัญหากันในงานมอบรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดนี่ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้พูดและสื่อสารกันออกไป ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน" นายวีระศักดิ์กล่าว

รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงริเริ่มขึ้นโดยสมาคมนักเขียนเวียดนามซึ่งก่อตั้งกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงขึ้นในปี 2550 ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยไทยเข้าร่วมในปี 2555 และปีหน้าเวียดนามจะขอเป็นเจ้าภาพจัดพิธีมอบรางวัลแทนเมียนมา ซึ่งไม่ได้ให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถจัดงานได้ ขณะที่ฮุนคิมฮวง และคีนยุซเว ผู้ได้รับรางวัล MERLA จากเวียดนามและเมียนมา ไม่ขอออกความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง บังคับใช้มาตรการควบคุมและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองภายในประเทศของตนเพิ่มเติม โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าการควบคุมและจับตาจากรัฐบาลไม่ได้มีแค่นักเขียนหรือผู้สื่อข่าว แต่รวมไปถึงผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการทำงานของรัฐบาลด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog