ไม่พบผลการค้นหา
คำแถลงปิดคดีด้วยวาจาโครงการรับจำนำข้าว ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560

คำแถลงปิดคดีด้วยวาจาโครงการรับจำนำข้าว ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560
 
ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม  และตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้  ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาล แม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้ เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่า ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน  

ดิฉันขอเรียนแก้ข้อกล่าวหา ในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ตามลำดับ ดังนี้

เรื่องที่ 1  ดิฉันถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม  และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดิฉันจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์ ได้มีโอกาสรับรู้คำกล่าว ของศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา  และอดีตประธานองคมนตรี ที่ได้กล่าวไว้ว่า “ตำรวจ เปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้ว ปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม”  

คดีนี้ มีข้อพิรุธมากมาย ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล  ดังนี้
1. ชั้นกล่าวหาและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำ
 - มีการเร่งรีบ  รวบรัดชี้มูลความผิดโดยเริ่มต้นจากการแจ้งข้อกล่าวหา การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ซึ่งเป็นต้นน้ำ  และการฟ้องคดีของโจทก์ ซึ่งถือเป็นกลางน้ำ ทุกท่านจะเห็นข้อพิรุธ  ถึงความขุ่นมัวของต้นน้ำและ���ลางน้ำ ตามข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้นำสืบต่อศาล เป็นข้อยุติแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มต้นกล่าวหาดิฉันด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง  79 วัน  
และชี้มูลความผิดดิฉัน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ  วินิจฉัยให้ดิฉันพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน
 - เร่งรีบชี้มูล ทั้ง ๆ ที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่น ในเรื่องทุจริตการระบายข้าวซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการ  ยังไม่มีข้อสรุป และเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันตลอดมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน
 
2. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี
ก่อนการฟ้องคดี  อัยการสูงสุดเห็นว่า  รายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์ เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับดิฉันได้ ในสาระสำคัญ 4 ประเด็น  คือ
 - ประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ว่าดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธาน กขช. จะยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามกฎหมาย  ได้หรือไม่  อย่างไร  
 - ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
 - ประเด็นการทุจริต
 - และประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้  ยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ ต้องมีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด 
แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุดกลับแถลงว่า จะฟ้องคดีกับดิฉัน  ก่อนที่ สนช. จะได้ลงมติถอดถอนดิฉันเพียง 1 ชั่วโมง  ซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่า  การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น  เป็นการดำเนินการเพื่อชี้นำการลงมติถอดถอนดิฉันหรือไม่
3. ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล  
 - มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช.โดยฟ้องดิฉันก่อน  แล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง และพบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้อง  เกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าว  และการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว  ทั้งขั้นตอนการรับจำนำ  และขั้นตอนการระบายข้าว  ที่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงาน แต่โจทก์กลับนำมากล่าวหาดิฉัน  โดยไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนในชั้นพิจารณาคดี โจทก์มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.  อย่างมีพิรุธ 3 เรื่อง กล่าวคือ
1. เรื่อง “รายงานผลการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ” ที่หัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เรื่องการเสื่อมสภาพของข้าว ที่เกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี ดิฉันจึงขอความเมตตา ที่ศาลจะไม่รับฟังผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว  ที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลัง  นอกเหนือจากสำนวน ป.ป.ช. ด้วย
2. มีการอ้างเรื่อง การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด เพื่อใช้เป็นพยานเอกสาร  ไว้ล่วงหน้า นานหลายเดือน ทั้งๆ ที่การสอบข้อเท็จจริง เสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงมีข้อพิรุธ  เสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้า ว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ ในการที่จะนำมาเป็นหลักฐาน  
3. เรื่องการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แบบรัฐต่อรัฐ ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น  ซึ่งมีการชี้มูลความผิด หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดิฉัน  แล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าวมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีของดิฉัน ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรี เสมือนจะทำให้เห็นว่า ดิฉันมีความเกี่ยวพันกับความไม่ถูกต้อง  

แม้ว่าดิฉันได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้ถึง 3 ครั้ง เพื่อโต้แย้งและร้องขอสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  ที่จำเลยในคดีอาญาต้องได้รับ  ในการที่จะขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา  212  แต่ศาลได้ยกคำร้องของดิฉัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัยสิทธิ์ของจำเลย  ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ทำให้ดิฉันมีข้อสงสัยว่า  จะยึดสำนวน ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด  หรือยึดหลักฐานใหม่ กว่า 60,000 แผ่น นอกสำนวน ป.ป.ช.

เรื่องที่ 2  นโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และดำเนินการตามกฎหมาย
การกำหนดราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ราคา 15,000 บาท  ที่ความชื้นไม่เกิน 15 % คณะรัฐมนตรีมีเจตนาดำเนินโครงการ  เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น และแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา  ที่เรื้อรังยาวนานมาหลายสิบปี จึงมิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหา 

นโยบายรับจำนำข้าว  เป็นการดำเนินนโยบายโดยสุจริต ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้  ให้รัฐมีหน้าที่  ต้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนา อีกทั้งยังเป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
2. เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการดำเนินการตามแผนการ บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และกฎหมายมีสภาพบังคับให้ดิฉัน  และคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม

 
 

เรื่องที่ 3  ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
- การดำเนินโครงการ เมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติ  ให้เป็นไปตามนโยบาย  ไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง  

ดังนั้น เมื่อเริ่มดำเนินการ ก็มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการ  ให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุล มีการติดตามตรวจสอบ ตามระเบียบของ  การบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 


 

เรื่องที่ 4  การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เนื่องจากโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556  คณะกรรมการ กขช. ได้มีการรายงานประโยชน์ที่ได้รับ  จากการดำเนินโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ของโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/55 และฤดูกาลผลิต 2555 รวม 394,788  ล้านบาท

วันที่ 18 มิถุนายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รายงานตรงถึงดิฉัน ยืนยันว่าโครงการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาเพิ่มขึ้น และระบุว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรับจำนำข้าว จนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ

การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบกฎหมาย  และกรอบเพดานหนี้สาธารณะ จากคำเบิกความของนางสาว ศิรสา  กันต์พิทยา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พยานโจทก์ที่ให้การในชั้น ป.ป.ช. และเบิกความในชั้นศาล ยืนยันว่า “การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตลอด 5 ฤดูกาลผลิต เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติ และกรอบเพดานหนี้สาธารณะ”

เรื่องที่ 5 ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้ง การดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา นอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งไม่มีกฎหมาย ใด ๆ บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องยับยั้งโครงการตามหนังสือของ 2 หน่วยงานดังกล่าว

ข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะ จาก สตง. และ ป.ป.ช. ที่ได้นำรายงานวิจัยของ TDRI เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในอดีตและเสนอต่อดิฉันให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว และนำนโยบายประกันราคาข้าวมาใช้ดำเนินการนั้น ดิฉันเห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรียับยั้งโครงการที่ไม่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีไว้และการที่จะให้ดิฉันนำนโยบายประกันราคาข้าวที่เป็นนโยบายของ TDRI และพรรคฝ่ายค้านมาดำเนินการนั้นเป็นเรื่องที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย          

ดิฉันขอเรียนว่าข้อเสนอแนะและข้อท้วงติงของ ป.ป.ช. และ สตง. ดังกล่าว ดิฉันและคณะรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยเพิกเฉย อาทิ ดิฉันได้ส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้คณะกรรมการ กขช. คณะอนุกรรมการต่าง ๆ และหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอันเป็นการดำเนินการตามสายบังคับบัญชาตามขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดิน

และดิฉันยังได้นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ในการรับจำนำข้าวฯ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ดิฉันได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบติดตามการรับจำนำข้าวและคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแล การรับจำนำระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานไปแล้ว นอกจากนี้ ดิฉันยังได้มีการติดตามงานตามที่ได้สั่งการหลายเรื่องหลายโอกาส ตลอดการดำเนินโครงการ อาทิ การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและสั่งการกำชับต่อผู้ว่าฯ ให้เข้มงวดกวดขัน ป้องกัน และปราบปรามการทุจริต มิให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่ในที่ประชุมสภากลาโหม ดิฉันก็ได้สั่งการให้มีการป้องกันการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และ สตง. ทั้งที่เรื่องดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปเพราะดิฉันมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะหลีกเลี่ยงหรือปกปิดการกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหาย แต่อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้ป้องกันความเสียหายโดยฤดูกาลผลิต 2556/57 มีการปรับลดวงเงินรับจำนำจากไม่จำกัด เป็นจำกัดวงเงินการรับจำนำไม่เกินรายละ 500,000 บาท และ 350,000 บาท 

เรื่องที่ 6 ดิฉันไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว

ดิฉันขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า  การระบายข้าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายความรับผิดชอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศไปแล้ว ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ดิฉันขอกราบเรียนว่า วิธีการระบายข้าว รวมถึงการทำสัญญาทั้งปวง จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นผู้รายงานผลการระบายข้าวให้คณะรัฐมนตรีทราบ 

เมื่อดิฉันไม่ทราบจะถือว่าดิฉันปกปิดการระบายข้าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดตามที่โจทก์กล่าวหาได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้ต่างจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดกับสื่อมวลชน เมื่อมีข้อกล่าวหาในเรื่องการระบายข้าวว่า “แม้ว่าตนจะเป็นประธาน นบข. แต่ก็มีอนุกรรมการ มีการกำหนดกติกาต่าง ๆ ไว้แล้ว”

กราบเรียน องค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ ดิฉันรู้ดีว่า ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง ดิฉันจึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสภาวะแวดล้อม ในขณะที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐาน ที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการ ของดิฉันในอดีต

ดิฉันใคร่ขอเรียนโดยสรุป ดังนี้ นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ “พาณิชย์นโยบาย” ที่คิดกำไร ขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิตที่ครั้งหนึ่งดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ให้กับชาวนา

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog