คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ สมัยรัฐมนตรีพาณิชย์ 'บุญทรง เตริยาภิรมย์' ผ่านมา 5 ปี กระทั่ง รอคำตัดสินวันนี้ (25 ส.ค.) จุดเริ่มต้นจากการยื่นร้อง ป.ป.ช.ของพรรคประชาธิปัตย์ นำมาซึ่งการถอดถอน เอาผิดทางอาญา และการยึดทรัพย์
จุดเริ่มต้น คดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก เกิดขึ้นเพราะนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555
นายบุญทรง และนายภูมิ ถูก สนช. ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 พร้อมกับนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แต่ทั้ง 3 คน และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องเพิ่มในภายหลังเป็น 28 ราย ต้องถูกดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 อัตราโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และปรับทั้งหมด 35,000 ล้านบาท
ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ช่วงต้นปี 2558 เพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดใช้เวลาพิจารณาร่วมกับ ป.ป.ช. กระทั่งวันที่ 19 มีนาคม 2558 ส่งฟ้องศาลฯ โดยศาลฯ รับฟ้อง เมื่อวันที่ 20 เมษายน นัดพิจารณาคดีครั้งแรก 29 มิถุนายน ปีเดียวกัน คำฟ้องโดยสรุป คือ จำเลยทั้งหมด ร่วมกันกระทำความผิด แบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้บริษัท GSSG และบริษัทไห่หนาน เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ ในราคาพิเศษ แบบจีทูจี ทั้งที่ 2 บริษัทนี้ ไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน และยังไม่ต้องแข่งขันราคากับรายอื่น จากนั้นนำข้าวที่ซื้อได้ ในราคาต่ำกว่าตลาดในประเทศ ไปขายต่อให้ผู้ประกอบการข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัท สยาม อินดิก้า ขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง คำฟ้อง ระบุว่า จำเลยที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการประจำ รู้หรือน่าจะรู้ว่า การกระทำดังกล่าวผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ควรยกเลิกการทำสัญญาขายข้าว แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 เริ่มไต่สวนพยานนัดแรก กระทั่งไต่สวนนัดสุดท้าย วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 และนัดอ่านคำพิพากษา วันที่ 25 สิงหาคม 2560
ส่วนในทางเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเรียกค่าเสียหาย จากการลงนามจีทูจีข้าว 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท โดยส่งหนังสือมอบอำนาจการยึด อายัดทรัพย์พร้อมข้อมูลการสืบทรัพย์ ให้กรมบังคับคดีดำเนินการต่อ นายบุญทรงต้องชดใช้ค่าเสียหาย 1,700 ล้านบาท นายภูมิ 2,300 ล้านบาท ที่เหลือคนละ 4,000 ล้านบาท
ศาลปกครองกลางไต่สวนทุเลาคดีนายบุญทรง และพวกใช้สิทธิยื่นศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งยึด อายัดทรัพย์ โดยใน 2 ครั้งแรก ศาลยกคำร้อง เนื่องจากยังไม่มีการยึด หรืออายัด แต่หลังจากนั้น เริ่มมีการอายัดบัญชีธนาคาร นายบุญทรงจึงยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาอีกครั้ง