จากนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย กับวิบากกรรมคดีจำนำข้าวที่ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา
25 สิงหาคม จะเป็นอีกวันหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของฝ่ายบริหารอย่างนายกรัฐมนตรี อย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องเดินทางไปขึ้นศาลในคดีโครงการรับจำนำข้าว ข้อหาที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ก็คือ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 ซึ่งแก้ไขตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะบันทึกเหตุการณ์วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ว่าอย่างไร? แต่ไม่มีใครปฏิเสธหรือลบเธอออกไปประวัติศาสตร์ว่าเธอคือ "นายกรัฐมตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย" ที่มาจากการสนับสนุนของประชาชนเกือบ 16 ล้านเสียง
จากสาวเชียงใหม่ นักธุรกิจมือทอง สู่นายกฯหญิงคนแรกของไทย
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด เป็นบุตรคนสุดท้องของ"นายเลิศ ชินวัตร และ นางยินดี ระมิงค์วงศ์ " จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อเป็น "สิงห์ขาว" รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อจบการศึกษาได้เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่ประเทศอเมริกาจนจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคนตักกี้สเตท
เมื่อจบการศึกษาได้เริ่มทำงานในบริษัทครอบครัวที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลและการสื่อสาร ในฝ่ายการขายและการตลาด และช่วยงานในบริษัทของครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าสู่แวดวงธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์และการสื่อสาร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาดของเอไอเอส และประธานกรรมการบริหารบริษัทในตำแหน่งสุดท้าย ถือว่าเป็นน้องสาวที่ ดร.ทักษิณ ชินวตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้ความไว้วางใจในการบริหารธุรกิจในครอบครัวมากที่สุดคนหนึ่ง จนเมื่อกลุ่มเทมาเส็ก โฮลด์ดิงส์เข้ามาซื้อหุ้นเธอจึงลาออกจากตำแหน่ง
โลกธุรกิจของเธอยังไม่จบเพียงเท่านั้น ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเอสซี แอสเสท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว จนเมื่อดร.ทักษิณประสบวิบากกรรมทางการเมืองถูกการทำรัฐประหาร 19กันยายน 2549 และได้พำนักที่ประเทศอังกฤษ เริ่มลงทุนในสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยิ่งลักษณ์ก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นกรรมการบริหารของสโมสร และยังทำงานสาธารณะกุศลในนามมูลนิธิไทยคม ในตำแหน่งกรรมการและเลขานุการมูลนิธิ โดยมุ่งเน้นงานสาธารณะประโยชน์ด้านการศึกษาและเยาวชน
สำหรับเส้นทางสายการเมือง ที่ตรงกับความรู้ที่ยิ่งลักษณ์สำเร็จการศึกษามานั้นเธอเริ่มจากตำแหน่งที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ของวุฒิสภา และเมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญในยุคของนายกรัฐมนตรี สมชาย วงษ์สวัสดิ์ ชื่อของยิ่งลักษณ์ถูกพูดถึงครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งเธอได้ปฏิเสธขณะนั้น โดยให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐเป็นหัวหน้าพรรค
49วันสร้างนายกฯหญิงคนแรกของไทย 2ปี 275วันในตำแหน่งนายกฯ
หลังจากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 2552 - 2553 ในปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาในเดือนพฤษภาคม เมื่อมีสัญญาณการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยต้องการแม่ทัพที่จะนำสู้ศึกเลือกตั้ง ชื่อของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรปรากฏในหน้าสื่ออีกครั้งในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตลอดระยะเวลา 49 วันที่ยิ่งลักษณ์สลัดมาดนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มาใส่เสื้อพรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชนและทำสัญญาประชาคมกับนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานชีวิต ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ300บาท เงินเดือน15,000บาท รถยนต์คันแรก และนโยบายที่ครองใจประชาชนที่หวังยกระดับชีวิตเกษตรกรอย่าง "โครงการรับจำนำข้าว"
3 กรกฎาคม 2554 ประชาชนเทคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น 265 ที่นั่งทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยได้มีการเลือกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อหมายเลขที่ 1 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ในเดือนสิงหาคมได้มีการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์เริ่มงานตั้งแต่วันแรกแบบไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูน เมื่อมีมหาอุทกภัยที่ใหญ่ที่ในรอบ 50 ปีรอให้แก้ปัญหาอยู่ข้างหน้า
ภายหลังมหาอุทกภัย ยิ่งลักษณ์ได้พยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างทั้งการสนับสนุนนโยบายรถยนต์คันแรกเพื่อกระตุ้นยอดการผลิตและการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ค่าแรง300บาทเพื่อภาคแรงงาน เงินเดือน15,000บาทเพื่อผู้ทำงานประจำ และโครงการรับจำนำข้าวเพื่อภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงนโยบายอื่นทั้งแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา และกองทุนส่งเสริมสตรีเพื่อที่ยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ
แต่ดูเหมือนการทำงานของเธอ 2ปี 275วันไม่ได้ง่าย เมื่อเธอเจอสารพัดม็อบที่รุมเข้ามากดดันทั้งม็อบแช่แข็งประเทศไทยของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ม็อบหน้ากากขาว ม็อบสวนยางที่ปิดถนนภาคใต้ ม็อบต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ และท้ายที่สุดม็อบกปปส. ที่มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และการเคลื่อนไหวของม็อบกปปส.ได้พัฒนาไปถึงการปูทางสู่การทำรัฐประหารโดยคสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ถึงแม้หลายๆภารกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมแต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบซึ่งถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมไปถึงโครงการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนาดใหญ่ "โครงการสร้างอนาคตไทย2020" หรือที่เรียกกันว่า "โครงการสองล้านล้าน" ที่นำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่หวังจะยกเครื่องระบบคมนาคมทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ ระบบรางให้กับประเทศไทยก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ายังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย แม้ว่าโครงการทั้งการบริหารจัดการน้ำและโครงการจัดสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจะถูกดำเนินการต่อโดยรัฐบาลคสช. ในระยะเวลาให้หลังไม่นานหลังมีการทำรัฐประหารก็ตาม
ถึงแม้ว่าผลการตัดสินคดีจำนำข้าวจะออกมาอย่างไร ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตรคือนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และประเทศไทยเคยมีความหวังจากนโยบายสาธารณะที่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน