ไม่พบผลการค้นหา
องค์การยูนิเซฟแนะนำให้ไทยพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษา หลังผลสำรวจบ่งชี้ว่าเด็กไทยไม่มีทักษะในการจัดการเรื่องเพศที่เพียงพอ ทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิทางเพศ ซึ่งอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศและปัญหาอื่นๆ ในอนาคต

องค์การยูนิเซฟแนะนำให้ไทยพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษา หลังผลสำรวจบ่งชี้ว่าเด็กไทยไม่มีทักษะในการจัดการเรื่องเพศที่เพียงพอ ทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิทางเพศ ซึ่งอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศและปัญหาอื่นๆ ในอนาคต

องค์การยูนิเซฟเผยผลสำรวจความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศของเด็กนักเรียนและบุคลากรด้านการศึกษาทั่วประเทศไทย เมื่อวานนี้ (23 สิงหาคม) พบว่าโรงเรียนในไทยเกือบทั้งหมดแม้จะมีการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษา แต่การใช้เวลาเรียนรู้และวิธีที่ใช้ในการสอนยังไม่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ทำให้เด็กไทยขาดทักษะในการจัดการเรื่องเพศในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทัศนคติและการรับรู้เรื่องเพศของเด็กในอนาคตได้

แบบสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเก็บข้อมูลจากเด็กนักเรียนกว่า 8,000 คน และครูอีกเกือบ 700 คนจากโรงเรียนมัธยม 398 แห่งทั่วประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 จนถึงเดือนมีนาคม 2016 และพบว่า การเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาในไทยแทบจะไม่พูดถึงประเด็นสิทธิทางเพศ ความเท่าเทียมกันทางเพศ ความรับผิดชอบในการเจริญพันธุ์ และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ทำให้เด็กหลายคนไม่ตระหนักเรื่องการป้องกันตัวเอง จึงมีแนวโน้มที่จะยอมรับการล่วงละเมิดทางเพศหรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าตกใจอีกหลายด้าน เช่น ร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเด็กนักเรียนชายในโรงเรียนอาชีวศึกษา เชื่อว่าสามีสามารถทุบตีหรือทำร้ายร่างกายภรรยาได้โดยไม่ผิด ถ้าหากว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี ซึ่งทัศนคติแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวังวนเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและการกดขี่ทางเพศอื่นๆ ขณะที่ 7 ใน 9 ของนักเรียนชายในโรงเรียนสายสามัญ เชื่อว่าการรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ผิด และนักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการมีประจำเดือนได้อย่างถูกต้อง ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่น่ากังวลก็คือ เด็กนักเรียนหญิงส่วนใหญ่เลือกใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพราะไม่รู้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่น และเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ชอบใช้ถุงยางอนามัย

วาเลอรี เททัน รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่าระบบการศึกษาไทยบรรจุวิชาเพศศึกษาเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในชั้นมัธยมและระดับอาชีวะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เด็กนักเรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์ที่จะสามารถนำความรู้เรื่องเพศศึกษาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยดูจากสถิติวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่มีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และเด็กวัยรุ่นหลายคนติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ และแบบสำรวจความคิดเห็นที่ยูนิเซฟร่วมกันจัดทำกับหน่วยงานรัฐบาลและสถาบันการศึกษาของไทยที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่รอบด้าน

รายงานของยูนิเซฟยังได้เปรียบเทียบผลสำเร็จของการเรียนรู้วิชาเพศศึกษาพบว่า ในประเทศที่มีการบรรจุข้อมูลเรื่องเพศสภาพและการจัดการความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจระหว่างเพศ รวมถึงการเคารพสิทธิทางเพศของผู้อื่น ช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรวัยรุ่น ส่วนประเทศที่ไม่ได้รวมข้อมูลเรื่องเพศสภาพ การจัดการความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจและการเคารพสิทธิทางเพศเข้าไว้ในการเรียนการสอน แม้วิชาเพศศึกษาจะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์และโรคติดต่อได้ก็จริง แต่ก็เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการเรียนการสอนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของประเทศไทย พบว่ามีการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาที่มุ่งเน้นความรู้เชิงกายภาพ แต่ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถกเถียงเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ การจัดการความสัมพันธ์และความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งครูที่สอนวิชาเพศศึกษาจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมทักษะหรือพัฒนาวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ของไทยต้องช่วยกันพัฒนาและผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนต่อไปในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog