ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ชายญี่ปุ่นจำนวนมากได้รับเงินสำหรับใช้จ่ายเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นผู้หารายได้เข้าครอบครัว

ครอบครัวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักมีแบบแผนตายตัว คือ สามีทำงานบริษัท ภรรยาเป็นแม่บ้านดูแลความเรียบร้อยทั้งหมดภายในบ้าน รวมไปถึงเงินในกระเป๋าของสามี ซึ่งผู้ชายญี่ปุ่นจำนวนมากได้รับเงินสำหรับใช้จ่ายเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นผู้หารายได้เข้าครอบครัว 

 
วันที่ 15 ของทุกเดือนถือเป็นวันสำคัญของโยชิฮิโร โนซาวะ เพราะเป็นวันที่เขาได้รับเงินเดือน แต่โยชิฮิโรต้องมอบเงินเดือนเกือบทั้งหมด ให้กับมาซามิ ภรรยา ซึ่งเป็นผู้จัดการงบประมาณทั้งหมดภายในบ้าน  ทำให้ ช่วงวันที่ 10-14 ของแต่ละเดือนถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ชีวิตยากลำบากที่สุดสำหรับเขา
 
 
แต่ละเดือนมาซามิให้เงินติดกระเป๋าสามีเพียงเดือนละ 3 หมื่นเยน หรือประมาณ 12,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่น้อยมากสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงโตเกียว ที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก และเงินจำนวน 3 หมื่นเยนจริงๆ แล้ว สมาชิก 4 คนในครอบครัวโนซาวะสามารถใช้หมดไปกับการเที่ยวสวนสนุกโตเกียวดิสนีย์แลนด์ภายในวันเดียว
 
 
โยชิฮิโรกับมาซามิมีลูกด้วยกัน 2 คน ในวัย 6 ขวบและ 8 ขวบ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มาซามิต้องลาออกจากงานเพื่อดูแลลูกทั้ง 2 คน และความเรียบร้อยของบ้าน รวมทั้งการใช้จ่ายเงินภายในบ้าน ซึ่งทั้งจำเป็นต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและค่าเรียนพิเศษของลูกๆ ที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่
 
 
เมื่อมีรายได้ทางเดียวจากโยชิฮิโร และเงิน 3 หมื่นเยนก็ไม่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพในกรุงโตเกียว ทำให้ทุกวันมาซามิต้องทำข้าวกล่องสำหรับมื้อกลางวันของสามี ซึ่งเขามักจะนำไปรับประทานที่สวนสาธารณะใกล้ๆ ที่ทำงาน
 
 
ส่วนของที่หรูที่สุดที่เขาเลือกซื้อ คือ บุหรี่ ซึ่งคิดเป็นหนึ่ง 1 ใน 3 ของเบี้ยเลี้ยงทั้งเดือนของโยชิฮิโร และทำให้เขาคิดว่า อาจจะต้องเลือกสูบบุหรี่ถ้ามีการขึ้นราคาบุหรี่อีกครั้ง
 
 
ผลการสำรวจของบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งระบุว่า ชาวญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 74 มอบหมายให้ภรรยาทำหน้าที่ควบคุมการจัดสรรเงินในครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ครอบครัวที่มีลูกในวัยเด็ก
 
 
ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่ง ไทซากุ คุโบะ ได้รับเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนจากภรรยาเป็น จำนวน 5 หมื่นบาทมาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว เขาพยายามเจรจาขอขึ้นเงินเดือนจากภรรยาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากภรรยาของเขาชี้แจงว่า ครอบครัวของเขามีรายจ่ายด้านต่างๆ ที่สูงมาก โดยเฉพาะภาระการผ่อนบ้านและการจ่ายภาษี
 
 
และแม้ว่าทั้งสองจะไม่มีลูก แต่ก็ต้องเก็บออมเงินไว้ให้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุการทำงาน ทำให้ไทซากุยังคงได้รับเงินเพียงแค่ร้อยละ 8.8 ของรายจ่ายภายในบ้านทั้งหมด แต่ก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ
 
 
นอกจากนี้ ข้อมูลจากธนาคารชินเซอิ ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา จำนวนเงินติดกระเป๋าของผู้ชายชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 39,600 บาท ซึ่งทำให้ผู้ชายญี่ปุ่นในวัยทำงานต้องใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายน้อยลง เมื่อเทียบกับในปี 2533 ที่ส่วนใหญ่มีเงินติดกระเป๋าเดือนละ 76,000 เยน เนื่องจากในช่วงดังกล่าว เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเป็นอย่างมาก
 
 
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมผู้ชายญี่ปุ่นจึงต้องปล่อยให้ภรรยาเป็นผู้ควบคุมงบประมาณรายจ่ายภายในครอบครัว
 
 
ผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพวิเคราะห์ว่า ผู้ชายญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เต็มใจที่จะมอบเงินทั้งหมดให้กับภรรยา แต่พวกเขาก็รู้สึกว่า เป็นหน้าที่ที่จะต้องเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ลำบาก และสามีหลายคนก็เคยทดลองทำหน้าที่บริหารเงินค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่ภาระงานนอกบ้านทำให้พวกเขารู้สึกว่าการบริหารเงินต้องใช้เวลามาก จึงเลือกให้ภรรยาดูแลการใช้จ่ายเงินในครอบครัวแทน
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
189Article
76559Video
0Blog