คำพิพากษาจำคุกโจชัว หว่อง และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง เป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงและจีนว่า จะไม่อดทนต่อความกระด้างกระเดื่อง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลับมองว่า แม้การส่งคำเตือนในครั้งนี้อาจได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า การที่ศาลฮ่องกงพิพากษาจำคุกโจชัว หว่อง นาธาน เหลา และอเล็กซ์ เจา แกนนำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงเมื่อปี 2014 เป็นเวลา 6-8 เดือน ในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย นับเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงและจีนว่า ฮ่องกงและจีนจะไม่อดทนต่อความกระด้างกระเดื่อง
การตัดสินโทษจำคุกในครั้งนี้ ยังส่งผลให้นักประชาธิปไตยทั้ง 3 คน ถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นเวลาถึง 5 ปี และยังส่งผลกระทบต่ออนาคตการงานของพวกเขา ซึ่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า เป็นการส่งคำเตือนไปยังชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงและจีน มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก
นาธาน เหลา (ซ้าย) และโจชัว หว่อง (ขวา)
โดยศาลฮ่องกงได้ตัดสินคดีนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้อนแรงยิ่งขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ ศาลฮ่องกงได้พิพากษาให้กลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย 6 คน ขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ยอมสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อจีน
คำตัดสินทั้ง 2 คดี ได้สะท้อนถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์ กลับวิเคราะห์ว่า แม้รัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงและจีนจะสร้างบรรยากาศแห่งการคุกคามขึ้น ซึ่งอาจได้ผลในการป้องปรามและจำกัดการแสดงออกในเชิงปฏิปักษ์ได้ในระยะสั้น แต่การตัดสินใจในครั้งนี้ ก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวฮ่องกงออกมาต่อต้านรัฐบาลท้องถิ่นและจีนยิ่งขึ้น
ชาวฮ่องกงประท้วงคำสั่งจำคุกโจชัว หว่อง และเพื่อน
20 สิงหาคม 2560
โดยเอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์ ได้อ้างการให้สัมภาษณ์ของนายไบรอัน คริสโตเฟอร์ โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยดันดี ที่คาดการณ์ว่า แม้คำพิพากษาในคดีของหว่องและเพื่อน อาจไม่นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ดังเช่นเมื่อปี 2014 ในเร็วๆ นี้ และสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงอาจสงบลงในระยะหนึ่ง แต่คำพิพากษาจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อาจสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่นักประชาธิปไตยเหล่านี้เรียกร้อง
นายโจนส์ยังระบุอีกว่า สำหรับในระยะยาว คำพิพากษาจำคุกโจชัวหว่อง เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกง เพราะคำตัดสินนี้อาจนำไปสู่กระแสโต้กลับ และสร้างความรู้สึกร่วมกันในบรรดาชาวฮ่องกงที่อาจออกมาเคลื่อนไหวในอนาคต
สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมาลายาของมาเลเซียที่ระบุว่า ในอดีตที่ผ่านมา การตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เคยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประชาชนในหลายประเทศลุกฮือ เช่นในกรณีของอาหรับ สปริง เมื่อปี 2010 และการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของชาวเมืองกวางจูในเกาหลีใต้เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกชุดชนวนด้วยความอยุติธรรมที่รัฐกระทำต่อบุคคลเพียงไม่กี่คน
ชาวฮ่องกงประท้วงคำสั่งจำคุกโจชัว หว่อง และเพื่อน
20 สิงหาคม 2560
ขณะที่วิกตอเรีย ฮุย รองศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอเทรอดามเปิดเผยว่า ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงอยู่ในสภาวะแน่นิ่ง ต่างจากเมื่อปี 2014 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่างฮึกเหิมจากชัยชนะในการเดินขบวนเมื่อปี 2003 และ 2012 แต่การล้มเหลวของการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2014 กลับทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากถอดใจ และมองว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงและจีน เป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสีย
อย่างไรก็ตาม ฮุยกลับตั้งข้อสังเกตว่า การที่ชาวฮ่องกงกว่า 22,000 คน ออกมาชุมนุมและเดินขบวนไปยังเรือนจำนักโทษการเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งก่อให้เกิดความหวัง ทำให้แม้รัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงและจีนจะประสบความสำเร็จในการป้องปรามการกระด้างกระเดื่อง แต่ชาวฮ่องกงอาจหันไปแสดงออกด้วยวิธีการอื่น เช่น การบอยคอตธุรกิจจีน หรือให้การสนับสนุนและบริจาคช่วยเหลือสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งแทน
เรียบเรียงโดย: สลิสา ยุกตะนันทน์