ไม่พบผลการค้นหา
ช่วง 2-3 ปีทีผ่านมา คาเฟ่สัตว์ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวในไทยยังไม่ได้รับการควบคุม ทั้งเรื่องกฎหมายด้านสาธารณสุขและสวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่กฎหมายครอบคลุมเพ็ทคาเฟ่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันมา 3 ปีแล้ว 

ช่วง 2-3 ปีทีผ่านมา คาเฟ่สัตว์ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวในไทยยังไม่ได้รับการควบคุม ทั้งเรื่องกฎหมายด้านสาธารณสุขและสวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่กฎหมายครอบคลุมคาเฟ่สัตว์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันมา 3 ปีแล้ว 

ตามข้อมูลของสมาคมพิทักษ์สัตว์ คาเฟ่สัตว์ เริ่มจากคาเฟ่แมวในออสเตรีย แต่ต้องปิดไประหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้น คาเฟ่แมวมาเปิดอีกครั้งในไต้หวัน และเริ่มได้รับความนิยมในญี่ปุ่น จนลามมาถึงไทย ที่นอกจากแมวแล้ว ยังมีการนำสัตว์อื่นๆ เช่น กระต่าย หรือสัตว์ป่าต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงด้วย 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคาเฟ่สัตว์เปิดทำการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลบันทึกว่าคาเฟ่สัตว์ในไทย ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า มีกี่แห่ง เพราะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บางแห่งเจ้าของไม่ไปจดทะเบียนกับทางการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรือหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ จึงทำให้ควบคุมได้ยาก ทั้งเรื่องสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ของสัตว์ และที่สำคัญที่สุด คือสุขภาพอนามัยของลูกค้าที่เข้าไปเล่นกับสัตว์ ที่ขาดการควบคุมดูแล ไม่เหมือนคาเฟ่สัตว์บางแห่งในต่างประเทศที่กำหนดชัดเจน เช่น ห้ามเด็กเล็กเข้าไปเล่นกับสัตว์

ด้านนายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยเลียนแบบคาเฟ่สัตว์มาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คาเฟ่สัตว์ในต่างประเทศเป็นคาเฟ่แมว แต่ไทยมีการนำสัตว์อื่นๆเข้ามาปะปน รวมถึงสัตว์แปลกต่างถิ่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคได้ โดยประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จึงต้องมีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งอาจเป็นช่องทางการแพร่เชื้อโรคได้อย่างดี ขณะที่คาเฟ่สัตว์ในต่างประเทศ ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นเมืองหนาว และยังมีการควบคุมด้านสาธารณสุข

กฎหมายการควบคุมด้านร้านอาหารของไทยกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องไม่มีสัตว์อยู่  แต่เจ้าหน้าที่กลับปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินกิจการ

นอกจากเรื่องปัญหาอนามัยต่อคนแล้ว ยังมีความกังวลเรื่องการหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557  โดยคุณโรเจอร์ โลหะนันท์ระบุว่า  จากการที่ไปตรวจสอบคาเฟ่สัตว์เลี้ยง หลายแห่งเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ เช่น ปล่อยให้สัตว์ในคาเฟ่เจ็บป่วยโดยไม่มีการรักษา โดยที่เจ้าของรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ขณะที่คุณแนนซี ลิน กิ๊บสัน ประธานมูลนิธิรักสัตว์ป่าระบุว่า สัตว์บางชนิดที่นำมาเลี้ยง เช่น สัตว์แปลกจากต่างประเทศ อาจเป็นการฝืนธรรมชาติของสัตว์

อย่างในกรณีนกฮูก ที่เป็นสัตว์หากินกลางคืน แต่ในคาเฟ่สัตว์เลี้ยง กลับถูกบังคับให้ตื่นตอนกลางวัน ซึ่งเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์  

อย่างไรก็ตาม จากที่ทีมข่าววอยซ์ทีวี สอบถามไปยังเจ้าของคาเฟ่สัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่ง ทราบว่าสัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ที่ถูกเพาะพันธุ์อยู่กับคน และเคยชินกับคนตั้งแต่เกิด และสัตว์บางชนิด มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับคนได้ นอกจากนี้  การเล่นหรือสัมผัสกับสัตว์ในคาเฟ่ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด และสัตว์ทุกชนิดที่อยู่ในร้าน เป็นสัตว์ที่มีใบอนุญาต ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

นอกจากนี้ สัตว์บางชนิดเช่น แร็กคูน ยังเป็นสัตว์ที่ถูกฆ่าเพื่อนำหนังไปทำเครื่องนุ่งห่มในต่างประเทศ ดังนั้น ตนจึงคิดว่าเป็นการช่วยชีวิตสัตว์ ซึ่งสัตว์ได้รับการดูแลอย่างดี โดยมีการสลับสับเปลี่ยนสถานที่อยู่ระหว่างคาเฟ่และสถานที่เลี้ยง ไม่ได้กักขังสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งในคาเฟ่อย่างถาวร

ปัจจุบัน ตามข้อมูลของสมาคมพิทักษ์สัตว์ กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ชัดเจน ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงธุรกิจที่ทำกับสัตว์ รวมถึงคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ที่ถึงแม้จะประกาศใช้แล้ว แต่ยังครอบคลุมเรื่องทารุณกรรมสัตว์เท่านั้น  ขณะที่กฎหมายลูก ด้านสวัสดิภาพสัตว์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันยาวนานมากว่า 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ เพราะจะกระทบกับห่วงโซ่ธุรกิจที่ทำกับสัตว์โดยตรง ผู้ที่มีสิทธิร่างกฎหมายดังกล่าว และทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ด้วย จึงเรียกร้องให้หาข้อสรุปที่ไม่กระทบกับธุรกิจของตนมากเกินไป

 

ภาพ: AFP 

        ภัทรดา ศรีมี

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog