ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรของไทยคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ด้วย เพราะสู้ราคาที่ต่ำกว่าไม่ได้

เครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรของไทยคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค ในขณะที่ไทยเองก็พยายามปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในประเทศเช่นกัน แต่ประเด็นที่สำคัญคือกลุ่มธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ด้วย เพราะอาจสู้ราคาที่ต่ำกว่าไม่ได้

'แรคโตพามีน' เป็นสารเร่งเนื้อแดงซึ่งทางการไทยและประเทศอื่นๆ รวม 160 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้ในการปศุสัตว์ แต่ทางการสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อีก 27 ประเทศ อนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวผสมกับอาหารสัตว์ได้ เพื่อให้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มมีไขมันน้อยลง แต่มีเนื้อแดงเพิ่มขึ้น เมื่อมีรายงานว่ากระทรวงพาณิชย์ของไทยจะพิจารณานำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ส่งผลให้เครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยรวมตัวกันยื่นจดหมายคัดค้านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าการนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะส่งกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช.ของไทย ระบุว่า คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CAC) เห็นชอบให้ใช้สารแรคโตพามีนในการเลี้ยงหมูได้ แต่เนื้อหมูที่จำหน่ายเป็นอาหารต้องไม่พบการตกค้างในปริมาณเกินกว่าที่กำหนด ขณะที่ประเทศไทยมีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงเช่นกัน แต่เป็นการใช้สารอื่นๆ เช่น 'เคลนบิวเทอรอล' และ 'ซัลบูทามอล' ซึ่งหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เพราะสารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเบตา-อะโกนิสต์ ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของหลอดลมและหลอดเลือด และเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีอาการความดันโลหิต

สำนักผู้แทนทางการค้าสหรัฐฯ พยายามเจรจาให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ตามกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (TIFA) ซึ่งลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2003 แต่สหรัฐฯ มีนโยบายอุ้มเกษตรกร และตลาดในสหรัฐฯ ก็ไม่นิยมบริโภคเครื่องในหมู ทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ จะสามารถส่งออกเนื้อหมูและเครื่องในหมูเพื่อมาจำหน่ายยังไทยได้ในราคาถูก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงต่อผู้เลี้ยงหมูในไทย รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทำให้เครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรรวมตัวกันคัดค้านมาตลอด และได้มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ลงนามความตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แต่ประสบปัญหาเนื้อหมูล้นตลาดในช่วงที่ผ่านมา

เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องเนื้อหมูล้นตลาด และเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP แต่เหตุผลหลักที่ทำให้เวียดนามประสบปัญหาหมูล้นตลาดจนราคาตกต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นเพราะถูกทางการจีนระงับนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราวตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากตรวจพบปัญหามาตรฐานการส่งออก รวมถึงมีการปราบปรามการค้าชายแดนระหว่างจีนและเวียดนามอย่างหนัก ส่วนการนำเข้าเนื้อหมูราคาถูกจากสหรัฐฯ ตามเงื่อนไขความตกลงทีพีพี เป็นปัจจัยเล็กน้อยที่กระทบต่อเวียดนาม และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศถอนตัวจากความตกลงทีพีพีตั้งแต่ต้นปี 2017 ที่ผ่านมาแล้วด้วย

การที่กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ มายังไทย จะต้องอาศัยความร่วมมือในการตรวจสอบมาตรฐานจากอีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอาหารและยา กรมปศุสัตว์ และศุลกากร หากเนื้อหมูและเครื่องในที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ไม่ได้มาตรฐาน ทางการไทยก็มีสิทธิ์ที่จะส่งกลับไปยังประเทศต้นทางได้ โดยที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่สหภาพยุโรปตีกลับเนื้อหมูจากสหรัฐฯ และทางการจีนตีกลับเนื้อหมูนำเข้าจากแคนาดา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารแรคโตพามีนในการเลี้ยงสัตว์ได้ 

ส่วนประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับเนื้อหมูที่ทางการไทยจะต้องพัฒนาต่อไป ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์และการป้องกันโรคระบาดสัตว์ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีความเข้มงวดและได้มาตรฐานสากล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog