เปิดไส้ในร่างพ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจกรรมการกำหนดราคาจำนวนรูปแบบ คัดเลือกตัวแทนจำหน่าย แบ่งรายได้ 1% เข้ากองทุนพัฒนาสังคม และเพิ่มโทษขายเกินราคา-ในสถานศึกษา ให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ติดคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จากเดิมปรับ 2,000 บาท
พลตรีฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวในเวทีเสวนา "ผ่า พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาล" ว่า พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 นั้นมีหลายจุดที่ล้าสมัย ไม่เป็นสากล จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยขึ้น มีความคล่องตัว และเกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ
โดยมีการปรับปรุง 7 ประเด็นใน พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ได้แก่
1.สถานที่ตั้ง จากสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เพิ่มเติมเป็นสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯหรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้สอดคล้องกับที่ตั้งสำนักงานในปัจจุบัน
2.เพิ่มคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็น 11 คน จาก 9 คน โดยเพิ่มผู้แทนจาก กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงยุติธรรม
3.เพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการสลากฯ เพื่อกำหนดจำนวน ราคา รูปแบบ วิธีการจำหน่าย และการคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย
4.ปรับการจัดสรรเงินจากการจำหน่ายสลาก โดยให้ 60% เป็นเงินรางวัล ,ไม่น้อยกว่า 22% เป็นรายได้แผ่นดิน จากเดิมไม่น้อยกว่า 28% ,ไม่เกินกว่า 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลาก จากเดิมไม่เกินกว่า 12% และให้ 1% เป็นเงินกองทุนเพื่อพัฒนาสังคม
5.การจ่ายเงินรางวัลประเภทสมทบเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต จากเดิมเงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัล
6.เพิ่มวัตถุประสงค์ กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม เพื่อให้ส่งเสริมการศึกษา การวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการพนัน ผลกระทบจากการพนัน รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพนัน ,เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน สร้างความรู้เท่าทันเพื่อป้องกันการติดการพนัน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและลดผลกระทบจากการพนัน ,เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน ,เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ,เพื่อให้ดำนเเนิโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
7.ปรับเพิ่มบทกำหนดโทษให้รุนแรงขึ้น สำหรับกรณีขายสลากเกินราคา ขายสลากในสถานศึกษา และขายสลากให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมขายสลากเกินราคาปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ทั้งนี้ การเสวนาในวันนี้ เป็นรอบแรกในการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อใช้ในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งจะจัดอีก 2 รอบ ในเดือนกันยายนและตุลาคม 2560 โดยจะเปิดรับฟังความเห็นผ่าน 2 เว็บไซต์ คือ www.glo.or.th และเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) และเดือนกันยายนถึงตุลาคม จะเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นเข้ามาทางจดหมาย ไปรษณียบัตร และขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นต้น
หลังจากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) สลากฯพิจารณาว่าจะนำความคิดเห็นมาปรับปรุงในร่าง พ.ร.บ.หรือไม่อย่างไร ก่อนเสนอกระทรวงการคลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป คาดว่าตามขั้นตอนกฎหมายฉบับใหม่น่าจะบังคับใช้ได้เร็วสุดเดือนสิงหาคม 2561
สอดคล้องกับความเห็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พรบ.สำนักงานสลากฯ เดิมใช้มาเกือบ 43 ปีแล้ว จึงควรมีการปรับเพื่อให้ทันสมัยกับเทคโนโลยี แต่ไม่ควรเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยต้องมองไปอีก 20- 30 ปีข้างหน้า อีกทั้งมองว่ากฎหมายฉบับใหม่ ควรมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สำนักงานสลากฯ แต่ส่วนตัวมองว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในอนาคตได้ เพราะเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงเร็ว พร้อมขอให้ยึดหลักผู้ที่จะมาบริหารงานต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน มีความโปร่งใส ขอให้ระมัดระวังในการแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก
ด้านนายอำนวย กลิ่นอยู่ นายกสมาคมคนพิการผู้ค้าสลาก (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเพิ่มปริมาณสลากและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ จะช่วยลดปัญหาสลากราคาแพงได้ เพราะปริมาณ 71 ล้านฉบับนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ที่สำคัญการแก้ปัญหาสลากต้องแก้แบบองค์รวม ไม่ใช่แค่เพิ่มบทลงโทษหรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเดียว ซึ่งเดือนกันยายนนี้ จะจัดประชุมและระดมความคิดของผู้พิการทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อรวบรวมความเห็นต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สลากฯ คาดว่าจะมีผู้พิการให้ความเห็นกว่า 200 คน สำหรับ
นายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรค์หยุดพนัน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเหมือนเป็นการเปิดประตูให้ บอร์ดกองสลากฯในอนาคต ออกสลากชนิดใหม่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น พร้อมมองว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีจุดอ่อน คือให้ออกได้ แต่ออกง่ายเกินไป เสมือนเป็นการยกภาระให้เป็นของมติของบอร์ดฯทั้งหมดในอนาคต ขณะเดียวกันกฎหมายนี้มีเงื่อนไขสถานที่ห้ามขายน้อย ยังแข็งแรงไม่เพียงพอ โดยเสนอให้เพิ่มขั้นตอนการออกสลากใหม่ให้มีขั้นตอนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และฟังเสียงผู้มีส่วนได้เสีย และผ่านการกลั่นกรองตากมติเห็นชอบจาก บอร์ดกองสลากฯ และ มติคณะรัฐมนตรี
พร้อมมองว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีเผือกร้อน ไปอยู่ในมือใครให้ทุกขลาภ คือ กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ที่ถูกกำหนดเพดานไว้ 1,000 ล้านบาทนั้น มีการกำหนดผู้มีสิทธิใช้กองทุนนั้นง่ายและแคบไป อาจจะถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองได้
ทั้งนี้ ไม่ได้คัดค้านการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์และความต้องการของตลาด แต่ควรสร้างเงื่อนไขหรือขั้นตอนให้ออกผลิตภัณฑ์ได้ไม่ง่าย และมองผลกระทบทางสังคม มีสถาบันที่เป็นกลางเข้ามาร่วมช่วยกลั่นกรอง
รายงานโดย เบญจมาศ วิถี