ไม่พบผลการค้นหา
แม้เวียดนามจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก แต่ปัจจุบัน ชาวเวียดนามที่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกลับมีแนวโน้มว่างงานมากที่สุด ทั้งๆ ที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ

แม้เวียดนามจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก แต่ปัจจุบัน ชาวเวียดนามที่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกลับมีแนวโน้มว่างงานมากที่สุด ทั้งๆ ที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปัจจุบัน ชาวเวียดนามอายุระหว่าง 15-24 ปีที่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มว่างงานถึงร้อยละ 17 ส่วนอัตราการว่างงานสำหรับคนที่มีการศึกษาระดับวิทยาลัยอยู่ที่ร้อยละ 14 ขณะที่แรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมระยะกลางและระยะสั้น มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 11 และร้อยละ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานเฉลี่ยในตลาดแรงงานของเวียดนามกลับอยู่ที่ร้อยละ 2.3 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า ยิ่งชาวเวียดนามมีการศึกษาสูงเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสตกงานเพิ่มขึ้น

บลูมเบิร์กระบุว่า แม้เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก อัตราการอ่านออกเขียนได้สูงถึงร้อยละ 97 และผลทดสอบ PISA ของเวียดนามเมื่อปี 2015 ติดอันดับ 8 ของโลก แต่ระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเวียดนามกลับล้มเหลวในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้มีทักษะเพียงพอสำหรับตลาดแรงงานที่ซับซ้อน โดยปัจจุบัน 1 ใน 3 ของแรงงานในตลาดแรงงานของเวียดนาม มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น

ขณะที่การศึกษาระดับโรงเรียนของเวียดนามมุ่งพัฒนาทักษะพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนไม่มาก เช่น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยกลับไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิพากษ์และทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการได้ เนื่องจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยของเวียดนาม บังคับให้นักศึกษาต้องใช้เวลา 2 ปีแรก ในการเรียนรู้เรื่องราวการปฏิวัติของโฮจิมินห์ แนวคิดสังคมนิยม และประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์ 

ด้วยเหตุนี้เอง แม้ภาคเอกชนและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามจะต้องการแรงงานที่มีทักษะ เช่น ผู้จัดการ หรือวิศวกรที่มีคุณภาพ แต่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเวียดนามกลับล้มเหลวในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเหล่านี้แก่บัณฑิตจบใหม่

การที่เวียดนามขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง ส่งผลให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอยู่มาก โดยสิงคโปร์มีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าเวียดนามถึง 26 เท่า มาเลเซียสูงกว่าเวียดนาม 6.5 เท่า ส่วนไทยและฟิลิปปินส์สูงกว่าเวียดนาม 1.5 เท่า

แม้ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนมหาวิทยาลัยในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นกว่า 450 แห่ง อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังตั้งเป้าว่า ภายในปี 2020 จะมีชาวเวียดนามรุ่นใหม่ที่เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย 560,000 คน หรือเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึงร้อยละ 8 แต่ขณะนี้ ผู้ปกครองชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งกลับเริ่มส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน โดยในปัจจุบัน มีนักศึกษาชาวเวียดนามในญี่ปุ่นถึง 54,000 คน เพิ่มจากเมื่อ 6 ปีที่แล้วถึง 12 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ประเทศที่มีรายได้สูงประสบความสำเร็จ คือ การพัฒนาระบบการศึกษาให้สามารถผลิตแรงงานทักษะสูงได้ ตั้งแต่ที่ประเทศเหล่านี้ยังเป็นเพียงประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับเวียดนามในการก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง คือ การปรับปรุงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นไปอย่างล่าช้าและมีความคืบหน้าน้อยมาก

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog