กิจการเหมืองแร่สัญชาติออสเตรเลียระบุว่ารัฐบาลไทยยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำของบริษัทที่อยู่ในจังหวัดพิจิตรแล้ว หลังจากที่บริษัทเคยมีข้อพิพาทกับชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าการเปิดเหมืองครั้งใหม่จะถูกกลุ่มประชาชนในพื้นที่ต่อต้านอีกหรือไม่
นายรอส สมิธ เคิร์ก ประธานบริหารของบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด กิจการเหมืองแร่สัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอัครา รีซอร์สเซส เจ้าของเหมืองทองคำชาตรีในจังหวัดพิจิตรของประเทศไทย ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 18 สิงหาคม ระบุว่าตัวแทนของคิงส์เกตได้เข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาลไทยเมื่อวานนี้ (17 สิงหาคม) และไทยได้ยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำชาตรีแล้ว หลังจากที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ปิดกิจการเหมืองทองคำชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ โดยมีปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น
ที่ผ่านมา บริษัทคิงส์เกตและอัครา รีซอร์สเซส ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องเหมืองทองคำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด แต่หน่วยงานรัฐบาลไทยยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำหรือไม่ ทำให้บริษัทคิงส์เกตตัดสินใจยื่นเรื่องขอเจรจากับรัฐบาลไทยเมื่อเดือนเมษายน เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจเหมืองทองคำ โดยเป็นการอ้างอิงเงื่อนไขในข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA
แถลงการณ์ของคิงส์เกตระบุว่า รัฐบาลไทยจะไม่จ่ายค่าชดเชยแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างหนัก แต่จะมีการพิจารณาผลประโยชน์หรือข้อผ่อนผันอื่นๆ ให้แก่กิจการของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแทนซึ่งยังต้องเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางหรือกรอบข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง แต่ทางการไทยระบุว่ากำลังจะพิจารณาคำขอต่อใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ของเหมืองทองคำชาตรี หลังจากที่ใบอนุญาตเดิมหมดอายุไปตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว
ด้านบลูมเบิร์ก สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ ระบุว่ารายงานข่าวเรื่องการยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำในไทย ช่วยให้หุ้นของบริษัทคิงส์เกตในออสเตรเลียกระเตื้องขึ้นถึงร้อยละ 36 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และคิงส์เกตประเมินว่างบประมาณที่ต้องใช้ในการเปิดเหมืองทองคำชาตริรอบใหม่อาจสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนายรอส สมิธ เคิร์ก ซีอีโอของคิงส์เกต ระบุว่าเป็นต้นทุนราคาแพง และทางบริษัทยังไม่มีงบที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวในตอนนี้
บลูมเบิร์กระบุว่าการเปิดเหมืองทองคำชาตรีรอบใหม่อาจใช้เวลานานประมาณ 3 ถึง 5 เดือน เพราะจะต้องเจรจากับพนักงานประมาณ 1,000 คนที่ต้องหยุดทำงานไปช่วงที่เกิดข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังไม่อาจระบุได้ว่าประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: