การปฏิรูปสายรถเมล์ใหม่ในกรุงเทพมหานคร ด้วยการเอาสติ๊กเกอร์สีมาแปะเป็นหน้ากากแล้วเปลี่ยนเลขสาย สร้างเสียงหัวเราะขบขันปนเย้ยหยันคุณภาพชีวิตของชาวกรุงบนโลกโซเชียลได้อย่างล้นหลาม
ถึงอย่างไรก็ตาม การมีรถเมล์บุโรทั่งปะผุก็ดีกว่าไม่มี เมื่อเทียบกับในต่างจังหวัดที่การเดินทางไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีรถของตัวเองแล้วก็เหมือนขาขาดเป็นง่อยไปไหนไม่ได้เพราะขาดขนส่งมวลชน
ท่านที่เดินทางไปต่างจังหวัดโดยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ต้องหงุดหงิดกับการเดินทางที่แสนจะลำบาก จากสถานีขนส่งหรือสนามบินไปยังจุดต่างๆ ก็ยากและแพง รถโดยสารทั้งระหว่างจังหวัด ระหว่างอำเภอ และภายในตัวเมืองเองก็ไม่มีตารางเวลาที่แน่นอน ส่วนมากมีสภาพเก่าไม่ได้มาตรฐาน เป็นรถสองแถวกระบะต่อเติม รถขนหมูเก้าอี้ไม้ หรือรถเมล์รุ่นสงครามเย็น ถ้าไม่แออัด เบาะสองนั่งสาม เบาะสามนั่งสี่ ก็ต้องทนรอฟังคำว่าเดี๋ยวออกๆ เป็นชั่วโมง คาดเดาไม่ได้ไปนัดไม่ทัน
รถเมล์เหลืองเก่าของจังหวัดอุดรธานี
ข้อหลักคือการผูกขาดอำนาจอนุมัติโครงการขนส่งมวลชนจากภาครัฐส่วนกลาง เนื่องจากการริเริ่มทำกิจการที่เกี่ยวข้องกับขนส่งมวลชนต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จากนั้นยังต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้สายการเดินรถเดิมที่เคยได้รับอนุมัติไปแล้วตั้งแต่อดีต ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ของเมืองและพฤติกรรมการเดินทางของผู้คนที่เปลี่ยนไป
เมื่อระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถตอบรับพฤติกรรมของผู้โดยสารได้อย่างทันท่วงที ทำให้คนเดินทางหันไปใช้รถของตนเองและยิ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรภายในท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น
การผูกขาดอำนาจดังกล่าว ยังทำให้เกิดกลุ่มมาเฟียที่ขัดขวางการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบขนส่ง ไม่ว่าจะริเริ่มโดยภาคธุรกิจเอกชนหรือภาครัฐเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกลุ่มรถแดงเชียงใหม่
รถแดงจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเป็นมาเฟีย
แม้ล่าสุดจะออกแอพใหม่ CM Taxi ปะทะ Uber และ Grab Car แล้วก็ตาม
อีกข้อหนึ่งคือจำนวนประชากรที่ไม่มากพอที่จะเดินรถขนาดใหญ่เป็นเส้นทางประจำ เพราะหากการเดินรถสัมปทานขาดทุนก็ไม่มีการรองรับช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นได้ เราจะเห็นได้เสมอกับรถประจำทางในต่างจังหวัด ที่ต้องรอจนคนขึ้นเต็มแล้วค่อยออก ไม่ตรงเวลา กำหนดแน่นอนไม่ได้ และยิ่งทำให้คนไม่ใช้รถประจำทางขึ้นไปอีก
การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ต้องใช้งานการเดินทางในต่างจังหวัดสามารถสนับสนุนและวางแผนระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ของตนเองได้ เป็นทางออกที่ช่วยให้ขนส่งมวลชนดีขึ้น และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน
ตัวอย่างที่ฮือฮาและได้รับความสนใจอย่างมาก คือระบบรถเมล์ใหม่ของเมืองขอนแก่น ที่มีทั้งไวไฟและระบบติดตามรถผ่านแอพพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ สามารถจ่ายเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนต้องจัดหารถเมล์เพิ่มอีก 12 คันในปีเดียว รวมถึงโครงการสร้างรถไฟฟ้าในจังหวัดที่อาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนในเมือง ที่ผลักดันกว่าจะผ่านการพิจารณาจากทั้งสนข. และครม. ได้ก็กินเวลานานหลายปี
"ขอนแก่น ซิตี้การ์ด" บัตรสำหรับจ่ายโดยสารในระบบรถเมล์ใหม่ของจ.ขอนแก่น
ที่ไม่ต้องลำบากฉีกตั๋วเป็นเศษกระดาษกลาดเกลื่อนอีกต่อไป
หรือโครงการที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของเมืองอุดรธานี ที่จะจัดการเดินรถเมล์ใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น มีทั้งระบบจีพีเอส ไวไฟ และจ่ายเงินผ่านมือถือโดยลงทุนเองทั้งระบบ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้ารางเบาและรถโดยสารด่วนของภูเก็ตที่กำลังอยู่ในขั้นการศึกษาข้อมูลและการทดลอง
นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชนที่เข้าไปใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการบริการ อย่างแอพพลิเคชัน Grab ที่เริ่มขยายการให้บริการไปยังต่างจังหวัด 8 แห่ง ก็ทำให้การเดินทางโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ของตนเองสะดวกขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเมืองต่างจังหวัดยังไม่ใหญ่มาก เวลาเดินทางที่ใช้ก็น้อยกว่าและค่าโดยสารก็ถูกกว่า ซึ่งหากหน่วยราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างกรมการขนส่งทางบกและตำรวจจราจรเข้าใจ ก็จะแบ่งเบาภาระการจัดการจราจรของเมืองได้โดยไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย
ไม่มีใครที่จะรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองของตนเองได้ดีกว่าชาวเมืองที่เดินทางสัญจรอยู่ทุกวัน อำนาจการจัดระบบขนส่งมวลชนจึงควรถูกกำหนดโดยคนที่อยู่ในเมืองนั้น ไม่ใช่คนกรุงเทพที่บางครั้งก็ไม่เคยเดินทางไปยังเมืองต่างจังหวัดเลยสักครั้ง
ถ้าปลดล็อคอำนาจจัดการขนส่งมวลชนให้อยู่กับท้องถิ่นที่เข้าใจได้ ความก้าวหน้าของเมืองต่างๆ จะผุดขึ้นมาอย่างอิสระและใช้งานได้จริง มากกว่าการสั่งการปฏิรูปโดยคนสั่งไม่เคยใช้งานระบบขนส่งมวลชนแบบกรุงเทพมหานคร