ไม่พบผลการค้นหา
ตลอด 50 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้ง อาเซียนประสบความสำเร็จในการรักษาสันติภาพภายในภูมิภาค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลับกลายเป็นประเด็นที่อาเซียนไม่ให้ความสำคัญและละเลยมากที่สุด

ตลอด 50 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้ง อาเซียนประสบความสำเร็จในการรักษาสันติภาพภายในภูมิภาค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลับกลายเป็นประเด็นที่อาเซียนไม่ให้ความสำคัญและละเลยมากที่สุด

สำนักข่าวเอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์เผยแพร่บทความที่มีชื่อว่า "50 ปี อาเซียน: มุ่งหน้าสู่สันติภาพและการพัฒนา ออกห่างจากสิทธิมนุษยชน" (Asean at 50: Region marches towards peace and development, away from human rights) ซึ่งเสนอว่า แม้ที่ผ่านมาอาเซียนจะประสบความสำเร็จในการรักษาสันติภาพในภูมิภาค สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม แต่ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

เอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ของ 5 ประเทศ ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เมื่อปี 1967 หรือประมาณ 1 ปี หลังจากที่ความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซียในช่วงปี 1963-1966 สิ้นสุดลง อาเซียนประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพในภูมิภาค โดยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่เคยเกิดสงครามระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอีกเลย 

ศาลโลกไต่สวนคดีเขาพระวิหาร ปี 2013

แม้ว่าในช่วงปี 2008-2011 จะเกิดข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ในประเด็นเรื่องพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร จนเกิดการยิงปะทะระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย แต่กลไกกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมไปถึงบทบาทของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ด้วยดี

ด้วยเหตุนี้เอง เอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์จึงระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียนนับได้ว่าเป็น 'ช่วงเวลาแห่งสันติภาพ' ในภูมิภาค ส่วนประเด็นความขัดแย้งที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ ล้วนเป็นปัญหาความไม่มั่นคงภายในประเทศ เช่น กลุ่มคอมมิวนิสต์ กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น

กองทัพรัฐฉาน

เอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้อาเซียนประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพ คือ หลักการในปฏิญญากรุงเทพฯ ที่มีหัวใจสำคัญ คือ ความร่วมมือ มิตรภาพ และการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แต่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ เอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์ยังได้ยกตัวอย่างว่า การที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทะเลจีนใต้เป็นเขตปลอดทหาร พร้อมแสดงความกังวลต่อการสร้างเกาะเทียมของจีนในน่านน้ำพิพาท รวมไปถึงการที่อาเซียนสามารถผลักดันให้จีนร่วมลงนามและเห็นชอบในกรอบระยะเวลาของแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ได้ รวมไปถึงการที่อาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของอาเซียนในการผลักดันเรื่องสันติภาพ

พื้้นที่พิพาททะเลจีนใต้

ปัจจุบัน ประชาคมอาเซียนมีประชากรราวๆ 650 ล้านคน โดยมีชาวมุสลิม 250 ล้านคน ชาวพุทธ 150 ล้านคน ชาวคริสต์ 120 ล้านคน ชาวฮินดู 7 ล้านคน และยังมีประชากรที่นับถือศาสนาและลัทธิอื่นๆ อย่างลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า หรือศาสนาพื้นเมืองอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนกลับสามารถบรรลุสันติภาพร่วมกันได้ ต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้งทางศาสนาและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

ในด้านเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนสูงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้มาก โดยงานวิจัยหลายชิ้นเปิดเผยว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราความความยากจนในอาเซียนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 14 เมื่อปี 2000 เหลือเพียงร้อยละ 3 ในปี 2013 นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 เศรษฐกิจของอาเซียนจะโตเป็นอันดับ 4 ของโลก

การที่อาเซียนประสบความสำเร็จด้านสันติภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย และออสเตรเลีย ต่างให้ความสำคัญ และส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 

ผู้อพยพชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของเมียนมา

อย่างไรก็ตาม เอเชียนคอร์เรสปอนเดนท์ กลับระบุว่า ปัญหาที่อาเซียนต้องเผชิญขณะนี้ คือ การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การปราศจากธรรมาภิบาล สถาบันทางการเมืองที่ไร้คุณภาพ และที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

เอเชียนคอร์เรสปอนเดนท์เปิดเผยว่า การที่อาเซียนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก คือ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิกฤตมนุษยธรรมไม่ได้รับการแก้ไข เช่นกรณีการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพฟิลิปปินส์บนเกาะมินดาเนา

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีมรดกตกทอดของความเป็นเผด็จการและลัทธิผู้นำที่เข้มแข็ง อย่างเช่น นายลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย และนายมหาเธร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และในปัจจุบัน ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศยังยึดถือแนวคิดแบบอำนาจนิยม เช่น นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีไทย

นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

นโยบายสงครามกวาดล้างยาเสพติดของนายดูแตร์เต ได้ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตแล้วหลายพันคน ขณะที่เมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ประกาศให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการสังหารพ่อค้ายาเสพติดชาวต่างชาติได้ทันที หากพวกเขามีท่าทีขัดขืนการจับกุม 

ล่าสุด หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่างหลีกเลี่ยงที่จะหารือเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เน้นความสำคัญของการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และการรับมือภัยก่อการร้ายแทน 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog