วันแม่ได้รับการเฉลิมฉลองและรำลึกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน และสถานที่ราชการต่างๆ แต่ยังมีแม่อีกจำนวนมาก ใช้ชีวิตอยู่ในมุมที่สังคมไม่นึกถึง พวกเธอคือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกอยู่หลังกำแพงเรือนจำ
ไทย ประเทศเล็กๆที่มีประชากรเพียงไม่ถึง 70 ล้านคน มีนักโทษหญิงมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก จาก World Female Imprisonment List หรือการจัดอันดับการจำคุกหญิงในโลก ประจำปี 2015 ประเทศที่มีนักโทษหญิงมากที่สุดคือสหรัฐฯ กว่า 200,000 คน ตามด้วยจีน กว่า 100,000 คน รัสเซีย ประมาณ 53,000 คน และไทยมีนักโทษหญิง 44,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อคิดว่าไทยมีจำนวนประชากรน้อยกว่า 3 ประเทศแรกที่มีนักโทษหญิงมากที่สุดในโลกหลายสิบเท่า โดยมีอัตรานักโทษหญิงประมาณร้อยละ 14 จากนักโทษทั่วประเทศ
เมื่อมีนักโทษหญิงมาก ย่อมแน่นอนว่ามี "แม่" อยู่ในเรือนจำไม่น้อย จากสถิติของทางการไทยพบว่าร้อยละ 82 ของนักโทษหญิงเป็นแม่ ทำให้การอยู่ในเรือนจำ ไม่ใช่แค่การขาดโอกาสและภาระทางจิตใจสำหรับตัวเอง แต่ยังทำให้ลูกไม่มีเงินเรียนหนังสือ ขาดคนดูแลด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น มีนักโทษหญิงประมาณร้อยละ 1 ที่ต้องอุ้มท้อง คลอด และเลี้ยงลูกในคุก สภาวะที่นำมาซึ่งคำถามมากมาย ตั้งแต่มาตรฐานการดูแลสุขภาพแม่ในเรือนจำ การคลอดจะได้มาตรฐานหรือไ่ม และที่สำคัญ เด็กควรอยู่กับแม่ในเรือนจำหรือไม่ อยู่ถึงเมื่อไหร่? ทั้งหมดนี้ทำให้เราตัดสินใจเข้าไปคุยกับบรรดาแม่หลังกำแพงคุก เพื่อฉายแสงไปยังแม่ในมุมที่สังคมไม่เคยนึกถึงเหล่านี้
มุมมองจากเรือนนอนของผู้ต้องขังที่เป็นแม่ลูกอ่อนและผู้ต้องขังตั้งครรภ์ /ภาพ: Cory Wright
ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เป็นเรือนจำสำหรับนักโทษที่โทษน้อยไม่เกิน 10 ปี ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด มีนักโทษหญิงทั้งหมด 1,102 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ 8 คน และมีเด็กในเรือนจำ 9 คน ซึ่งโดยปกติ ที่นี่จะมีเด็กในเรือนจำเฉลี่ย 10 คนขึ้นไป
คลอดในคุก มีมาตรฐานแค่ไหน?
ด้วยความที่ปัจจุบันเรือนจำไทยใช้มาตรฐาน Bangkok Rules ซึ่งไทยเองเสนอต่อสหประชาชาติ ให้มีการประกาศใช้มาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ในปี 2010 Bangkok Rules กำหนดให้มีการดูแลสวัสดิภาพและตอบสนองความต้องการของผู้ต้องขังหญิง ที่มีรายละเอียดมากกว่าผู้ชาย หนึ่งในนั้นก็คือการดูแลผู้ต้องขังตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อนในเรือนจำ ทำให้มาตรฐานการดูแลแม่ในเรือนจำมีระบบระเบียบชัดเจน ผู้ต้องขังที่เข้ามาใหม่ จะได้รับการอบรมหลักการปฏิบัติตัวในเรือนจำ คนที่ตั้งครรภ์จะมีหลักสูตรพิเศษ อบรมเตรียมตัวการเป็นแม่ และได้แยกไปอยู่รวมกับผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน นอกจากนี้ยังมีการดูแลให้อาหารเสริมตามจำเป็น และมีสูตินรีแพทย์เข้ามาตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์ มีการฝากครรภ์และติดตามอาการเหมือนแม่ทั่วไปทุกประการ
ห้องเลี้ยงเด็กในทัณฑสถาน แม่จะได้รับอนุญาตให้อยู่ดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ แต่หลังจาก 3 เดือน แม่ส่วนใหญ่มักขอเข้า "กองงาน" ซึ่งหมายถึงการไปทำงานฝีมือ เบเกอรี่ สปา ตามที่เรือนจำมีโครงการ เพื่อจะได้มีรายได้เล็กๆน้อยๆไว้ใช้จ่ายในเรือนจำ /ภาพ: Cory Wright
สำหรับการคลอด เรือนจำจะมีห้องพยาบาล ที่มีพยาบาลวิชาชีพประจำตลอดเวลา สามารถทำคลอดได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่โดยปกติ พยาบาลจะทำหน้าที่ประเมินภาวะคลอด และส่งผู้ต้องขังไปคลอดในโรงพยาบาลใกล้เคียง โดยมีผู้คุมตามไปเฝ้าจนกระทั่งสามารถกลับเข้าเรือนจำได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ พยาบาลก็จะทำคลอดในเรือนจำ และส่งตัวไปตัดสายสะดือที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันการตีตราว่าเด็กเกิดในเรือนจำ เพราะตามกฎหมายไทย ต้องระบุสถานที่เกิดในสูติบัตร และสถานที่เกิดตัดสินที่การตัดสายสะดือ หากตัดที่ไหน จะต้องจดแจ้งว่าเกิดที่นั่น
เลี้ยงเด็กในเรือนจำ ดีหรือแย่ทั้งกับแม่และเด็ก?
ภาพ: Cory Wright
เมื่อผ่านการคลอดมาแล้ว แม่และเด็กจะกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ตามกฎหมาย อนุญาตให้เด็กอยู่ในเรือนจำได้จำถึงอายุ 3 ปี แต่พยาบาลประจำทัณฑสถานจะแนะนำให้แม่ส่งลูกออกไปให้ญาติเลี้ยงดู หรือให้สถานสงเคราะห์ หลังเด็กอายุเกิน 1 ปี เพราะในวัยนี้ เด็กจะเริ่มเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง จึงไม่เหมาะที่จะให้เด็กเติบโตในเรือนจำ
เราได้คุยกับแม่หลายคน ทั้งที่กำลังอุ้มท้อง และเพิ่งคลอด พวกเธอต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า วางแผนจะให้ลูกอยู่ด้วยไม่เกิน 1 ปี แค่พอให้หย่านมแม่ แม้จะไม่อยากพรากจากลูก แต่ไม่มีใครอยากให้เด็กอยู่ในเรือนจำ เพราะพวกเธอรู้ดีว่าที่นี่ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ต้องถูกกักกันอยู่ในนี้เพียงเพราะพวกเขามีแม่เป็นผู้ต้องขัง
ความจริงที่ยากจะบอก: ลูกเกิดในคุก
แต่ความซับซ้อนทางอารมณ์ของเรื่องนี้ ไม่ได้จบลงแค่เพียงการส่งลูกออกนอกเรือนจำ แม่ทุกคนในนี้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า วันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น จะบอกกับลูกหรือไม และบอกอย่างไร ว่าพวกเขาเคยใช้ขวบปีแรกในเรือนจำ ทุกคนยอมรับว่าคงต้องบอก แต่ยากเหลือเกินที่จะสารภาพว่าแม่ผู้ให้กำเนิด ทำให้ลูกต้องมาอยู่ในเรือนจำ จากความผิดที่ตนเองไม่ได้ก่อ
ฟ้า แม่วัย 19 ปี กับลูกคนที่ 2 ของเธอ ฟ้าติดคุกในข้อหาจำหน่ายยาไอซ์ ตอนนั้นท้องได้ 3 เดือน การต้องคลิดในเรือนจำ ทำให้ฟ้าได้มีโอกาสเลี้ยงลูกเอง หลังจากลูกคนแรก เธอปล่อยให้แม่เลี้ยงตลอด ฟ้าตัดสินใจว่าจะส่งลูกออกจากเรือนจำหลังจากครบ 8 เดือน เธอบอกกับเราว่าคิดไว้แล้ว ว่าเมื่อลูกโต จะบอกกับลูกตามตรงว่าลูกเกิดในคุก และจะขอโทษลูกแบบตรงไปตรงมา /ภาพ: Cory Wright
ใหม่ อายุ 23 ปี ติดคุกข้อหาค้าโสเภณีเด็ก ตอนนี้เธอท้องได้ 7 เดือนแล้ว ยอมรับว่าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะต้องมาคลอดลูกตอนอยู่ในคุก เธอกลัวน้อยลงเมื่อรู้ว่าเรือนจำมีระบบดูแลที่ดี และคิดไว้แล้วว่าจะให้ลูกอยู่ในคุกแค่ 6 เดือน แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดคำถามหนึ่งออกไปจากใจได้ จะบอกลูกอย่างไรว่าลูกเคยอยู่ในคุก? /ภาพ: Cory Wright
การเป็นแม่ว่ายากลำบากแล้ว แต่แม่ในเรือนจำ มีภาระทั้งทางกายภาพและอารมณ์มากกว่าแม่ปกติหลายเท่า เป็นความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญจากผลของการกระทำของตัวเอง แต่ในฐานะแม่ พวกเธอได้แต่หวังว่า ความผิดพลาดในชีวิต จะไม่กลายเป็นตราบาปในชีวิตลูกไปด้วย