อาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทะเลจีนใต้เป็นเขตปลอดทหาร พร้อมแสดงความกังวลถึงการสร้างเกาะเทียมของจีน โดยนอกจากนี้ จีนและอาเซียนยังเห็นชอบกรอบแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ร่วมกัน
เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (6 สิงหาคม) ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยในแถลงการณ์ฉบับนี้ได้แสดงความกังวลถึงการสร้างเกาะเทียมในพื้นที่พิพาท พร้อมเรียกร้องให้ทะเลจีนใต้เป็นเขตปลอดทหาร และขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันลดความตึงเครียดลง
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีจุดยืนที่แตกต่างในประเด็นเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเด็นดังกล่าวกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีน จึงมักหลีกเลี่ยงการใช้ข้อความที่ระบุถึงจีน การสร้างกรรมสิทธิเหนือแนวปะการัง และการสร้างสิ่งปลูกสร้างทางการทหาร ดังนั้น แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของอาเซียน จึงนับว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวกว่าในอดีตมาก
อย่างไรก็ตาม การออกแถลงการณ์ของอาเซียนในครั้งนี้ นับว่าล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะสามารถออกได้ในช่วงเย็นวันที่ 5 สิงหาคม และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีความพยายามในการล็อบบีจากตัวแทนของเวียดนาม ให้มีการระบุถึง การขยายอิทธิพลทางการทหารของจีนในพื้นที่พิพาทระหว่างการหารืออย่างไม่เป็นทางการนอกรอบ นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สยังรายงานว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่พอใจกับแถลงการณ์ของอาเซียนในประเด็นเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ฉบับล่าสุด เนื่องจากมองว่าเป็นแถลงการณ์ที่อ่อนเกินไป
เมื่อวานนี้ อาเซียนและจีนยังเห็นชอบกรอบแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) โดยจะกระบวนการเจรจาเรื่อง COC จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังไม่ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดอย่างเป็นทางการของ COC แต่อย่างใด
สำนักข่าวสเตรทไทม์สของสิงคโปร์ ได้รายงานอ้างแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับร่าง COC ว่า ใน COC ฉบับนี้ จะมีการระบุถึง ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ความร่วมมือ ความมั่นใจ การป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่การแสวงหาทางออกอย่างสันติ พร้อมย้ำว่า COC ไม่ใช่เครื่องมีในการแก้ไขข้อพิพาทด้านการอ้างกรรมสิทธิเหนือเขตแดน
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์เปิดเผยต่อสำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชียว่า แม้การที่อาเซียนและจีนต่างเห็นชอบใน COC จะนับเป็บความก้าวหน้าอย่างมาก แต่คาดว่ากระบวนการเจรจาหลังจากนี้จะเป็นไปอย่างตึงเครียด โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า COC จะมีผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ อาเซียนได้ยืนยันเสมอมาว่า COC ควรมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่จีนแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด