ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการควบคุมโรคไตเพื่อจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สาเหตุทำไตเสื่อม หากไม่มีการดำเนินการคาดอีก5 ปี จะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพิ่มกว่า 2 แสนราย

กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการควบคุมโรคไตเพื่อจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สาเหตุทำไตเสื่อม หากไม่มีการดำเนินการคาดอีก5 ปี จะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพิ่มกว่า 2 แสนราย

วันนี้ (5 สิงหาคม 2560) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาเรื่อง “การจัดการโรคไตเรื้อรังนำสู่การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ในการปาฐกถาเกียรติยศ ศ.นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา การประชุมใหญ่ประจำปีสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 100,000 คนป่วยระยะสุดท้ายและต้องรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 15-20% ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นกว่า 2 แสนราย และต้องใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปีในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดนโยบาย “การจัดการโรคไตเรื้อรังนำสู่การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และยังช่วยลดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองด้วย โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมโรคไตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดระบบบริการเพื่อเพิ่มการคัดกรองโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง การชะลอไตเสื่อม การพัฒนาระบบการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้อง ให้มีคุณภาพและครอบคลุม รวมทั้งการเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายไต 

ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่การส่งเสริมงานวิจัยคลินิกชะลอไตเสื่อม ณ จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นคลองขลุงโมเดล และส่งเสริมให้เกิดคลินิกชะลอไตเสื่อมขึ้นใน รพ.ทั่วประเทศ การจัดตั้งแผนพัฒนาระบบบริการ(service plan)สาขาไต และสาขาการรับบริจาคปลูกถ่ายอวัยวะ และการริเริ่มให้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายเพื่อจัดการปัญหาโรคไตเรื้อรัง ส่งเสริมนโยบายการควบคุมโรค NCDs และโรคไตเรื้อรังอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทำให้มีการคัดกรองโรคไตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ55.7 ในปี 2558 เป็นร้อยละ68.2 ในปี 2559 สามารถชะลอไตเสื่อมได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ จากการรณรงค์ของสถานบริการในสังกัด ฯ ทำให้ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว

ทั้งนี้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกและประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากรายงานขององค์การอนามัยโลก มีผู้เสียชีวิตจำนวนปีละ 40 ล้านคน ร้อย 48 เป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลงร้อยละ25 ภายในปี2568โดยประเทศไทยได้มีการดำเนินการป้องกันโรคและควบคุมโรค NCDsภายใต้แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย โดยใช้หลักการเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียง การบริโภคที่เหมาะสม ออกกำลังกายที่เพียงพอ และการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม เพื่อควบคุมโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง 
 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog