ไม่พบผลการค้นหา
ปีไหนข้าวราคาดี เกษตรกรชาวทุ่งกุลาร้องไห้ก็ยิ่งยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าเดิม สร้างความก้าวหน้าให้แก่ตัวเมืองร้อยเอ็ดและสุรินทร์จนมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างโรบินสันมาตั้งในตัวเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยผู้ค้าปลีกรายยักษ์เล็งเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจที่เติบโตจากการผลิตข้าว

เมื่อได้ยินคำว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ภาพของทุ่งหญ้าแห้งแล้ง แดดเผาเป็นเปลวระยิบเหนือดินแตกระแหงอาจวาบขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของคนจำนวนมาก จากตำนานเก่าแก่ของทุ่งราบยาวไกลสุดลูกหูลูกตา ที่แม้แต่พ่อค้าชาวแขกกุลาทั้งอึดทั้งอดทนขนาดไหนก็ต้องยอมทิ้งสินค้าของตนเพื่อเอาตัวรอดจนร้องไห้

ภาพจำความแห้งแล้งในยุคก่อนๆ เล่าขานสืบต่อกันมาทั้งในวรรณกรรมและภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นคำผญาโบราณ “ตกกลางท่งแล้วล้า เดินฝ่าเทิงหัว เห็นแต่ท่งเป็นทิว มือกุมหัวกลุ้ม” หรือกวีของนายผี “บนฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม”

ทุ่งกุลาร้องไห้กินพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ มีพื้นที่รวมราว 2.1 ล้านไร่ เดิมเป็นอู่อารยธรรมโบราณตั้งแต่ยุคเหล็กราว 2,500 ปีมาแล้ว มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีกว่า 400 แห่ง โดยมีทั้งภาชนะดินเผาฝังศพ เครื่องมือโลหะทั้งสำริดและเหล็ก แต่เกิดภัยพิบัติไม่ทราบสาเหตุจนแหล่งอารยธรรมล่มสลายไป นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากโรคระบาด หรือการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงมากเกินไปจนเกิดความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน

จนกระทั่ง พ.ศ. 2514 กรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาวางแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ในที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้ โดยขีดเส้นกำหนดเขตชัดเจน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ การพัฒนาตามโครงการทุ่งกุลาร้องไห้ร่วมกับประเทศออสเตรเลีย นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 ต่อเนื่องด้วยโครงการอีสานเขียว การขุดลำคลองชลประทานและอ่างเก็บน้ำตลอดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ผนวกกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อความเค็มของดิน ทำให้ในปัจจุบัน ทุ่งกุลาร้องไห้ได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ

สภาพดินทรายและมีความเค็ม เหมาะกับพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิ กข15ให้ผลผลิตข้าวที่หอม หุงขึ้นหม้อ กินอร่อย เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้มีรสนิยมทางการกิน ทำให้ขายได้ราคาสูง รวมถึงทุ่งกุลาร้องไห้เป็นทุ่งราบกว้างใหญ่สามารถใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้าสนับสนุนปฏิบัติการได้เต็มที่

ถ้านั่งเครื่องบินไปลงจังหวัดร้อยเอ็ดในฤดูฝน ก่อนเครื่องจะแลนดิ้ง เราจะได้เห็นภาพทุ่งนาเขียวชอุ่มเต็มพื้นดิน และชุมชนหมู่บ้านที่เจริญก้าวหน้าขึ้นตามถนนทางลาดยาง เมื่อนั่งรถผ่านไปตามทางจนถึงจังหวัดสุรินทร์ไม่มีที่ไหนแห้งแล้งอย่างที่ภาพในจินตนาการหรือวรรณกรรมเคยเล่าไว้แต่เก่าก่อน

การพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ในปัจจุบัน ได้เกิดกลุ่มชาวนารวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ผลิตข้าวในแต่ละพื้นที่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีลูกหลานชาวนาซึ่งได้เข้าไปเรียนระดับสูงขึ้นกลับมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ตั้งแต่การรวมตัวเลือกพันธุ์ข้าว เจรจาต่อรองกับโรงสี จนถึงขั้นการบรรจุหีบห่อติดแบรนด์ของแต่ละพื้นที่ โดยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีชื่อเสียง คือข้าวหอมมะลิกลุ่มจากสุรินทร์ในหลากหลายแบรนด์ที่ร้านอาหารชั้นนำในกรุงเทพต่างก็เลือกใช้ขึ้นจาน

ปีไหนข้าวราคาดี เกษตรกรชาวทุ่งกุลาร้องไห้ก็ยิ่งยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าเดิม สร้างความก้าวหน้าให้แก่ตัวเมืองร้อยเอ็ดและสุรินทร์จนมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างโรบินสันมาตั้งในตัวเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยผู้ค้าปลีกรายยักษ์เล็งเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจที่เติบโตจากการผลิตข้าว

แต่เมื่อข้าวราคาตกต่ำ เศรษฐกิจและความมั่งคั่งของชุมชนก็จะเงียบเหงาลงตามไปด้วย เรื่องราคาข้าวจึงเป็นมิติทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากกว่าการมองว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป แต่ข้าวยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมและสภาพสังคมของพื้นที่ที่ดำรงอยู่ด้วยการเกษตร

การพัฒนาเชิงเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีผู้เสนอแนะให้รวมกลุ่มกันทำ แต่การตลาดและแหล่งขายสินค้ายังไม่สามารถรองรับปริมาณข้าวที่ผลิตในแต่ละปีได้ทั้งหมด รวมถึงการจดทะเบียนสิ่งชีวัดทางภูมิศาสตร์ หรือ GI: Geographical Indication ก็เป็นเพียงการช่วยในด้านการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังไม่ทำให้ได้ตลาดหรือคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น การส่งเสริมด้านการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงจำเป็นอย่างมากกับเกษตรกร

ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ ได้ฟันฝ่าอุปสรรคยาวนานนับแต่สมัยแห้งแล้ง จนกลายเป็นทุ่งนาเขียวขจี การพัฒนาพื้นที่ที่เคยทุรกันดารอย่างทุ่งกุลาร้องไห้สามารถเป็นเรื่องเล่าแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์ขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรไปพร้อมกับการขายข้าวคุณภาพชั้นยอดที่ใครๆ ก็อยากลองมาชิม

ลองจินตนาการถึงหมู่บ้านชาวนาที่พร้อมให้เรารับประทานข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้หุงใหม่ๆ ควันร้อนฉุยหอมตลบออกไปสามบ้านแปดบ้าน กับปลาย่างจากลำห้วย น้ำพริกตำใหม่ ผักสดเขียวหวานกรอบเพิ่งเด็ดขึ้นจากสวน

ถ้าเป็นภาพโฆษณาในโทรทัศน์ ก็เห็นทีอยากจะพุ่งไปซื้อข้าวมาหุงกินในบัดดล

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog