สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการออกแบบและวางระบบเมืองอัจฉริยะ Smart City เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากข้อมูลของสหประชาชาติประเมินว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66 โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา
เมื่อปี 2015 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศให้เขตจูร่งเป็นพื้นที่ทดสอบเมืองอัจฉริยะ โดยมีการติดตั้งระบบดิจิทัลต่างๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิและการเคลื่อนไหวในที่สาธารณะเพื่อควบคุมไฟสัญญาณจราจรและไฟถนนโดยอัตโนมัติ รวมถึงติดตั้งโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตนับพันจุดเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับบริการสาธารณูปโภคต่างๆ
โครงการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ Smart Bus Station ในเขตจูร่งเลค เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งมองว่าการขนส่งและคมนาคมเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเมือง โดยรถไฟฟ้าเน้นความเร็วและเหมาะกับผู้คนในวัยทำงาน แต่ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจะเป็นทางเลือกให้กลุ่มคนสูงวัยและเด็กๆ ที่ต้องการความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งป้ายรถเมล์แห่งนี้มีบริการไวไฟฟรี ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ จอแสดงผลการจราจรที่จะบอกว่ารถเมล์แต่ละสายจะมาถึงป้ายในเวลากี่นาที โดยเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในมือถือขององค์การขนส่งและบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่พัฒนาบริการด้านนี้ ทั้งยังมีต้นไม้ หนังสือ และชิงช้าสำหรับพักผ่อนหย่อนใจด้วย
ส่วนแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนสามารถคำนวณเวลาที่รถเมล์จะเดินทางมาถึงป้ายรถเมล์ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ แต่รวมถึงป้ายรถเมล์จุดอื่นๆ ทั่วเขตเมือง ช่วยให้ประชาชนจัดสรรเวลาในการเดินทางได้ โดยอาจทำกิจธุระอื่นๆ ก่อนจะไปยังป้ายรถเมล์ เพราะรู้เวลาที่รถจะมาถึงอย่างค่อนข้างแน่นอน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการนั่งรอรถ และเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
เอ็งสีผิง นักบัญชีชาวสิงคโปร์ ซึ่งเคยใช้บริการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวีว่าโครงการนี้มีประโยชน์ และควรจะขยายไปที่ชุมชนอื่นๆ เพราะโดยปกติแล้วคนที่อยู่ในวัยทำงาน นิยมใช้รถไฟฟ้า แต่รถเมล์จะเป็นระบบขนส่งสำหรับเด็กวัยรุ่นหรือผู้สูงวัย ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน ส่วนปัญหาที่พบจากการใช้งานป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรเมื่อมีผู้ใช้งานมากไป และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น สายชาร์จโทรศัพท์มือถือ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้งาน
ด้านนายวิชัย สุมนัสขจรกุล คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของกิจการและทำงานอยู่ในสิงคโปร์มานานกว่า 20 ปี มองว่าการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งในกรณีของสิงคโปร์ที่พยายามจะลดการพึ่งพิงชาวต่างชาติ ทำให้การออกแบบเมืองอัจฉริยะมุ่งเน้นความเชื่อมโยงของระบบฐานข้อมูลเพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเวลาและลดจำนวนบุคลากร
ในส่วนของประเทศไทยที่กำลังพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะเช่นกัน จะต้องออกแบบเมืองโดยคำนึงถึงการเชื่อมต่อเทคโนโลยีและสาธารณูปโภคให้สามารถอำนวยความสะดวกของประชากรในกลุ่มต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่ใช่แค่การพัฒนาระบบขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงระบบต่างๆ ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของประชาชนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: