ในยุคที่ช่องทางการสื่อสารออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์รัฐและการเผยแพร่ข้อมูลที่ยากจะควบคุม รัฐบาลหลายประเทศหันมาสอดส่องดูแบโลกออนไลน์มากขึ้น VPN เครื่องมือสำคัญที่พลเมืองใช้สู้กับการปิดกั้นข้อมูลของรัฐ จึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม มาดูกันว่า VPN คืออะไร และถูกใครแบนบ้าง
VPN หรือ Virtual Private Network “เครือข่ายส่วนตัวเสมือน” เป็นฟังก์ชันที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้รับส่งข้อมูลได้ปลอดภัยมากขึ้น ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวส่งผ่านข้อมูลก็จริง แต่จะมีการเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมด ผู้ที่ไม่มีพาสเวิร์ดก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ เปรียบเหมือนการสร้างอุโมงค์ส่วนตัวขึ้นท่ามกลางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ และถือเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านตัวกลาง คือผู้ให้บริการ VPN เจ้าต่างๆ
ประโยชน์ของ VPN ก็คือ ทำให้การเชื่อมต่อง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และปลอดภัยขึ้น รวมถึงทำให้การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกบล็อกทำได้ เนื่องจากเป็นการเข้าถึงผ่านตัวกลาง ไม่ใช่เจ้าของแอคเคาท์ตัวจริง นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานได้ด้วย เนื่องจาก IP address ที่ปรากฏในการใช้งาน จะเป็น IP address จากผู้ให้บริการเครือข่าย VPN ไม่ใช่เจ้าของแอคเคาท์ และผู้ใช้งาน VPN ยังสามารถตั้งค่าให้ตัวตนผู้ใช้งานไปโผล่ที่ประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศที่ตนเองใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่
แต่ VPN ก็มีข้อเสีย คือผู้ให้บริการเครือข่าย VPN อาจดักจับข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้บริการได้ และการที่ VPN ทำให้ผู้ใช้ปกปิดตัวตนได้ ทำให้ถูกมองว่าเป็นตัวการส่งเสริมอาชญากรรมไซเบอร์
ประเทศที่ผู้ใช้งานมักนิยมใช้สร้างตัวตนผ่าน VPN ได้แก่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศเสรีประชาธิปไตยต่างๆ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต แต่ด้วยเหตุที่ VPN ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาข้อมูลที่ถูกบล็อกทำได้ง่าย และการติดตามหาตัวตนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำได้ยากขึ้น ทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมหลายประเทศในโลก รวมถึงเอกชนรายใหญ่ๆ ออกกฎควบคุม จำกัด หรือแม้แต่แบนการใช้ VPN เช่น จีน ที่ผู้ใช้รายงานว่ามีปัญหาในการใช้ VPN มาตั้งแต่ปี 2011 และล่าสุด ทางการก็ประกาศให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม บล็อคผู้ใช้ทั่วไปไม่ให้ใช้ VPN ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 แต่บริษัทต่างๆยังคงใช้ VPN ได้ตามปกติ เช่นเดียวกับรัสเซียที่เพิ่งผ่านกฎหมายแบนการใช้งาน VPN ไป
ส่วนในอิหร่าน มีการออกกฎแบน VPN ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2013 ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีเล็กน้อย โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะ VPN ที่รัฐรับรองเท่านั้น แต่ก็มีรายงานว่า VPN ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ จะเสี่ยงต่อการถูกสอดส่องข้อมูล เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย ที่รัฐแบนเฉพาะการใช้ VPN เข้าถึงบริการที่ผิดกฎหมายในประเทศ เช่นบริการโทรออกด้วยเสียงของ WhatsApp (Voice Calling) ส่วนในซีเรีย มีการบล็อคกาใช้ VPN ตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งมีการลุกฮือของประชาชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของนายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย
เอกชน 2 รายที่แบนการใช้ VPN ตั้งแต่ปี 2014 ก็คือบริการวีดีโอออนดีมานด์ของสหรัฐฯ Hulu เนื่องจากทางบริษัทต้องการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันได้เข้าถึงคอนเท็นต์ เช่นเดียวกับ Netflix ที่ถูกค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯกดดันให้บล็อคการเข้าถึง Netflix ผ่าน VPN หลังจากพบว่ามีผู้ใช้งาน Netflix ในออสเตรเลียถึง 200,000 คน ทั้งที่ยังไม่มีการเปิดบริการอย่างเป็นทางการในประเทศ