สัมภาษณ์อดีตนักโทษทางความคิดและผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ความพลิกผันทั้งอนาคตและชีวิตครอบครัวหลังจากเข้าไปอยู่ในเรือนจำ อุปสรรคที่ต้องเผชิญระหว่างหาเงินประกันตัว
“นเรศ อินทรโสภา” ผู้ต้องหาคดีการเมือง อายุ 34 ปี เกิด จ.อุดรธานี มีครอบครัวและทำงานที่ จ.ขอนแก่น ก่อนเข้ามาอยู่กทม.ปี 2552 ปัจจุบันเป็น 1 ใน ผู้ต้องหาคดีกล่าวหาปาระเบิดหน้าศาลอาญา โดยได้ประกันตัวเป็นกลุ่มล่าสุด 4 คนพร้อม “แหวน” น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา แต่แหวนถูกควบคุมต่อในคดี 112
“นเรศ” บอกว่า ชีวิตก่อนเข้าเรือนจำกำลังทำธุรกิจอยู่ในช่วงที่พีคสุด เพราะเริ่มมีคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหมูปิ้งที่เริ่มจากเปิดร้านขาย ทำโรงงาน ทำเฟรนไชน์ส่งขายในประเทศและต่างประเทศคือประเทศลาว นอกจากนั้น ทำธุรกิจสบู่ ส่งให้บริษัทขายตรงและทำแบรนด์ตัวเอง
ชีวิตครอบครัวก่อนถูกดำเนินคดี มีครอบครัวอยู่ จ.ขอนแก่น ภรรยาทำธุรกิจด้วยกัน มีลูกด้วยกัน 2 คน พออยู่ในเรือนจำได้ 1 ปี ภรรยาก็เขียนจดหมายมาหา บอกว่าตอนนี้อยู่กับสามีใหม่ที่เนเธอแลนด์
“ชั่วโมงนั้นเป็นชั่วโมงที่ความรู้สึกเราก็เครียดมากพออยู่แล้ว มีหลายอย่างกดเข้าเข้ามา พอได้รับจดหมายก็พูดอะไรไม่ออก มีความรู้สึกว่า ทำไมชีวิตเราเป็นแบบนี้... ออกจากเรือนจำยังไม่ได้กลับบ้านต่างจังหวัดไปพบลูกเพราะต้องต่อสู้คดี ตอนนี้ยังอยู่ขั้นตอนสืบพยาน”
คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมดสิบกว่าคน ไม่มามอบตัว 2 คน ที่เหลือถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหาในเรือนจำ บางคนได้ประกันตัวก่อนหน้านี้ ส่วนตัวเป็น 1 ใน 4 ที่ได้ประกันตัวล่าสุด
“ตัวผมเองไม่เคยยื่นประกันตัวมาก่อน ช่วงแรกมีคนมายื่นประกันให้ในวันฝากขัง แต่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อคนที่มายื่นประกันได้ แล้วหลังจากถูกควบคุมตัวมา 1 ปี แฟนเขียนจดหมายมาบอกเรื่องไปมีครอบครัวใหม่ ก็ไม่มีหลักทรัพย์ที่ไหนประกันตัว ก็เลยไม่เคยยื่นประกันสักที จนล่าสุด คนที่โดนคดีเดียวกัน ได้ประกันตัวออกทีละคนทีละคน ห่างกันคนละ 1-2 สัปดาห์ พอทนายรู้ว่าเขาอนุญาตให้ประกัน ทางทนายก็เดินเรื่องหาหลักทรัพย์มาประกันให้”
“นเรศ” บอกว่า หลังออกจากเรือนจำก็มาทำธุรกิจสบู่ ส่งบริษัทเพื่อนซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อกระจายสินค้า เป็นเรื่องง่ายกว่าการขายเอง นอกจากจะทำธุรกิจแล้วมีตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคพลังประเทศไทยตั้งแต่ก่อนมีคดี เป็นคนดูแลคัดผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ส.ส.จากภาคอีสานของพรรค และถ้า กกต. มีกิจกรรม ตนเองก็เป็นตัวแทนพรรคจากภาคอีสาน
สำหรับพรรคพลังประเทศไทยมีนายดาชัย อุชุโกศลการเป็นหัวหน้าพรรค มี “ทอม ดันดี” เป็นที่ปรึกษาพรรค มี “ลุงยิ้ม ตาสว่าง” “โด่ง อรรถชัย อนันตเมฆ” มาร่วมกิจกรรมพรรค
เขาบอกว่า พรรคพลังประเทศไทยกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ว่าหลายคนในพรรคเคยทำกิจกรรมของคนเสื้อแดงมาก่อน
“นเรศ” เล่าถึงชีวิตตัวเองว่า เขาเรียนจบ กศน. ม.6 ที่จ.ขอนแก่น ทำธุรกิจและอาชีพเสริมเป็นงานบรรยายพัฒนาบุคลิกภาพ
“ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีพร้อมทุกอย่าง เราไปอยู่วัดเป็นเด็กวัด ตอนเรียนจบแค่ ป.6 ก็ไม่มีเงินเรียน เพราะครอบครัวยากจน ก็ต้องออกหางานทำตั้งแต่จบ ป. 6 ทำงานช่วงแรก เป็นแค่ลูกจ้าง เงินเดือน 1,800 บาท ในช่วงนั้น ก็มีความรู้สึกว่า ตัวเองเหนื่อย และเห็นใครเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเจ้าของบริษัท เราก็มีความฝันว่า เราอยากเป็นเจ้าของบริษัทเหมือนเขา เป็นความฝันมาตั้งแต่เด็ก
จนได้เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์เมื่อปี 2544 ช่วงเป็นทหาร ก็พยายามหาอะไรทำ ไม่ว่าจะตอนอยู่ในค่าย ผมก็รับซักเสื้อผ้า ทำชุดลงแป้งให้กับทหารในค่าย มีค่าใช้จ่ายชุดละ 20 บาท ผมได้ 10 บาท กองร้อย ได้ 10 บาท ก็แบ่งกันทำงานแบบนี้มา อย่างขายของสวัสดิการทหารในกองร้อย ผมก็ขอลงทุนซื้อของมาขายในนี้
เราพยายามสร้างตัวเองมาตลอด พอปลดจากทหารมา ก็มารู้จักรุ่นพี่ที่เป็นทหาร เขาก็ชวนมาทำธุรกิจเครือข่าย พอเข้าไปเรียนรู้ระบบเครือข่าย ก็ทำให้เราเข้าใจวิธีการบริหาร เข้าใจวิธีการทำธุรกิจมากขึ้น
ทำธุรกิจเครือข่ายสักพักประสบความสำเร็จมีรายได้เดือนหนึ่งร่วมแสน เก็บเงินได้มาทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ไม่เกี่ยวกับขายตรง ล่าสุดทำธุรกิจสบู่
คนที่ทำธุรกิจด้วยกันชวนมาทำงานพรรคการเมือง ส่วนตัวเชื่อว่าตัวเราเองเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่ได้ แต่ที่เข้ามาในการเมืองเพราะมองว่าคนในต่างประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงคิดว่า อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น อยากให้คนไทยตั้งแต่เกิดจนสิ้นลมหายใจ มีเงินเดือนตลอดไป
ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น่าจะเปลี่ยนด้วยความรุนแรง การใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดี และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” นเรศกล่าว
“อัครเดช เอี่ยมสุวรรณ” อดีตนักโทษทางความคิด เล่าว่า ปัจจุบันอายุ 27 ปี ขณะถูกดำเนินคดีเขาเรียนคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านหนองจอก ปัจจุบันพ้นโทษคดี ม.112 หลังอยู่ในเรือนจำ 2 ปี 3 วัน แต่ยังคงเข้าไปเยี่ยมคุณพ่อในเรือนจำ เนื่องจากคุณพ่อเป็น 1 ใน 10 กว่ารายชื่อผู้ต้องหาคดีกล่าวหาปาระเบิดหน้าศาลอาญา ตามสำนวนคือคุณพ่ออยู่ในกลุ่มไลน์กลุ่มหนึ่งที่คุยกันเรื่องการเมือง ซึ่งไม่ได้จริงจังซีเรียส แต่ก็โดนรวบกันทั้งกลุ่ม ถูกกล่าวหาทั้งกลุ่ม
อัครเดช บอกว่า ตัวเขาเองและคุณพ่อ ได้ติดตามข่าวสารสถานการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่ปี 2549 โดยในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาตลอด
คุณพ่อเป็นวิศวกรโยธา ทำงานจบโปรเจ็คหนึ่งก็ย้ายประเทศทีหนึ่ง ก่อนจะติดคุกก็ไปอยู่ซาอุดิอาระเบีย เพิ่งกลับมา แล้วการเมืองช่วงนั้นก็แรง ประมาณปี 2552
ครอบครัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง ส่วนตัวเคยเข้าร่วมชุมนุมในนามตัวเอง ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้รู้จักนักกิจกรรมและไม่รู้จักนักการเมืองเป็นการส่วนตัว รู้จักเพียงในทีวี
หลังออกจากเรือนจำรู้สึกไม่มีหลักแต่ก็ไม่เคว้งมาก เพราะสมาคมเพื่อเพื่อนมาช่วยให้คำแนะนำและมีเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท ซึ่งสมาคมให้ทุกคนที่เขาช่วยเหลือ
“ตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นคดีการเมือง คดีทางความคิด เป็นแค่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษมา จะทำงานก็ลำบาก เพราะเวลาสมัครงาน พอบริษัทเช็คประวัติเขาก็ไม่รับแล้ว
ชีวิตก็อยู่คนเดียว ยังติดต่อกับแม่อยู่ แต่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันเพราะแยกครอบครัวไปตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมอยู่บ้านพ่อคนเดียว เพราะพ่ออยู่ในเรือนจำ
ต้องมาตั้งหลักใหม่ว่าจะไปเยี่ยมพ่อยังไง ทำงานประจำได้ไหม ซึ่งไม่ได้อยู่แล้ว ต้องสละเวลาไปเยี่ยมพ่อ อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ เพราะตอนผมอยู่ในเรือนจำ พ่อผมก็ไปเยี่ยมอย่างนั้นเหมือนกัน ต้องดูแลกันอย่างนี้ ต้องยอมเหนื่อยหน่อย
ต้องให้กำลังใจกันเหมือนเดิมแค่สลับที่กันเฉยๆ เรามองพ่อผ่านลูกกรง แค่สลับตำแหน่งกัน ขนาดเจ้าหน้าที่เรือนจำยังตกใจเลย คราวที่แล้วพ่ออยู่ข้างนอก สลับกันลูกมาเยี่ยมแทน ก็คงจะอีกสักพักบรรยากาศแบบนี้
ตอนผมอยู่ในเรือนจำได้ประมาณ 8 เดือน หลังถูกตัดสินแล้ว พ่อหายไปประมาณ 40 วัน ตามประกาศ คสช. ผมก็รู้แล้ว... ครั้งแรกพ่อมาเยี่ยม หลังหายไป 40 วัน แต่เขาหาหลักฐานที่จะกล่าวหาเชื่อมโยงอะไรไม่ได้ พอมาเยี่ยมได้ 2 สัปดาห์ ก็หายไปอีก 40 วัน คราวนี้ออกหน้าหนังสือพิมพ์เลย คือผมก็ทำใจไว้แล้วว่าต้องโดน ถ้าเขาไม่ลี้ภัย ยังไงก็โดนแน่นอน
ตอนมาเยี่ยมพ่อก็เล่ารายละเอียดบอกหมด ถกแผลให้ดู โดนทรมานยังไง
ตอนไปอยู่เรือนจำพร้อมกัน อยู่คนละแดน ผมอยู่แดนวัยหนุ่ม ผู้ต้องขังอายุ 18-25 ปี พ่ออยู่แดน 6 คดีอยู่ระหว่างพิจารณา คือยังไม่เป็นผู้ต้องขัง เป็นเพียงผู้ต้องหา เจอในเรือนจำในห้องเยี่ยม เวลาที่แฟนพ่อมาตีเยี่ยมจะตีเยี่ยมผมและพ่อผม ก็เลยมาเจอกันในห้องเยี่ยม
รวมเวลาที่ผมอยู่ในเรือนจำ 2 ปี 3 วัน โดยเจอพ่อในเรือนจำประมาณ 1 ปี ตอนนี้ พ่อต่อสู้คดีมา 2 ปี 4 เดือนแล้ว ขึ้นศาลทหาร แต่ยังสืบไม่ถึงครึ่งทางต้องรอต่อไป”
ชีวิตหลังออกจากเรือนจำ “อัครเดช” บอกว่า ตอนนี้กำลังจะเปิดร้านอาหาร เป็นอาชีพอิสระ โดยการสนับสนุนของสมาคมเพื่อเพื่อน
“ผมไปบอกพ่อว่ามาเยี่ยมทุกวันไม่ไหว หาเงินไม่ได้ พ่อบอกลองไปสมัครงานดู ปรากฏก็ไม่มีใครรับ ยิ่งโดนคดี 112 ยิ่งแล้วเลย อาจจะโดนเอาหินปาหัวด้วย
ในบรรดาเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ ถ้าเคยติดคุกก็ไม่มีใครสมัครงานได้สักคน มี 20-30 คนก็ไม่ได้ทำงาน นอกจากคนที่เคยเป็นทหารมาก่อน ทางสังกัดก็จะทำเรื่องไว้ให้ ออกจากเรือนจำก็ไปรับราชการต่อได้ แต่ถ้าคนทั่วไปไม่มีทางสมัครงานได้ อาจจะทำได้ก็วินมอเตอร์ไซต์ หรือแท็กซี่
ตอนนี้ไปเยี่ยมคุณพ่อวันเว้นวัน ไปจันทร์ พุธ ศุกร์ เคยไปทุกวัน แต่ผมก็ต้องหาเงินด้วย การเยี่ยมคนทีหนึ่ง ไม่ใช่รายจ่ายแค่ 50-60 บาท ไหนจะค่าเดินทาง ผมวิ่งจากปทุมเพื่อมางามวงศ์วาน ค่าน้ำมันก็ 200-300 บาทแล้ว แล้วไหนจะค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าขนม หมดทีหนึ่งก็เกือบพันต่อวัน แล้วจะหาเงินจากงานอิสระ สัปดาห์หนึ่งจะได้เท่าไหร่ ได้ 3 พัน ก็เต็มกลืนแล้ว
ตอนผมอยู่ในเรือนจำคุณพ่อไปเยี่ยมผมทุกวัน เขาเป็นวิศวะ วิ่งไปหน้างาน เซ็นแบบ ตรวจงาน ช่วงบ่ายเขาก็วิ่งมาเยี่ยม จะอยู่อยุธยา ระยอง เขาก็วิ่งมาเยี่ยม อาจจะสายหน่อย รอบสุดท้าย สามโมงเย็นเขาก็มา ไม่ยอมปล่อยให้ลูกต้องรอ นี่คือช่วง 8 เดือนแรก
ปัญหาตอนนี้ อยากให้พ่อรู้สึกโอเคที่สุดในการรอพิจารณาคดี และก็เรื่องการหาเงินประกันตัว อาจจะขอหยิบยืมญาติๆ มา แต่ก็ยังหาทางไม่ได้เหมือนกัน”
“ปิยรัฐ จงเทพ” นายกสมาคมเพื่อเพื่อน (For Friends Associationหรือ FFA) ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้อยู่ในเรือนจำ กล่าวว่า สมาคมเพื่อเพื่อน ดำเนินการอย่างเป็นทางการมา 1 ปี 3 เดือนให้การช่วยเหลือนักโทษและผู้ต้องหาคดีทางความคิด คดีทางการเมือง จะมีคณะกรรมการพิจารณาเฉพาะรายที่กระทบสิทธิ เช่น ม.112 หรือ คดีขัดคำสั่ง คสช. ส่วนคดีอื่นๆ จะอยู่ในดุลพินิจคณะกรรมการ
กรณีที่ช่วยเหลือคดีทางความคิดและคดีการเมืองไม่รวมคดีอาวุธและยาเสพติด จะอยู่ที่ประมาณ 200 กว่าราย กรณีพ้นโทษหรือประกันตัวออกจากเรือนจำประมาณ 180 กว่าราย สำหรับวิธีการช่วยเหลือ ช่วยมีทั้งช่วยด้วยเงินและช่วยด้วยการหาอาชีพ
การช่วยเหลือ สมาคมจะช่วยในส่วน เงินสวัสดิการแรกเข้า คือ การจัดสรรงบซื้อเครื่องยังชีพ อุปโภคบริโภค เมื่อต้องเข้าไปยังเรือนจำ และมีสวัสดิการอิสระภาพ คือ วันที่ได้รับการประกันตัวหรือ พ้นโทษ โดยงบเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่รายละไม่เกิน 3,000 ให้ทันทีที่ออกจากเรือนจำเพื่อเป็นค่ารถ หลังจากนั้นเขาก็ดำเนินชีวิตของเขา นอกจากนั้น ได้ช่วยเหลือเป็นอาชีพ หรือสนับสนุนให้มีงานทำโดยการประสานติดต่อผู้ประกอบการหรือค้ำประกันให้ มีหลายคนประสบความสำเร็จ หลายคนก็กลับไปวงเวียนเดิม มีทั้งดีและเลวร้ายไปเลย บางคนกลับไปเข้าคุกก็มี ถูกดำเนินคดีทางการเมืองย้อนกลับไปเข้าคุกอีกก็มี ส่วนบางคนมีคดีอาญาลักขโมย ฉ้องโกง ถูกดำเนินคดี ตรงนั้นเราไม่ได้ไปช่วยแล้ว
ปิยรัฐ เล่าถึงชีวิตผู้ต้องหาและผู้ต้องขังหลังอยู่ในเรือนจำว่า บางคนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยกตัวอย่างคุณพี่ท่านหนึ่ง ก่อนหน้านั้นเขามีบริษัทใหญ่ทำน้ำและเครื่องดื่ม หลังถูกกล่าวหาร่วมกันผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงสลายการชุมนุม 2553 เขาถูกตัดสินจำคุก เพิ่งพ้นโทษมาไม่กี่ปี ตอนนี้ยังตั้งตัวไม่ได้ ต้องขายทรัพย์สินเงินทองที่เคยมีบริษัทมาก่อน เอาออกมาขายเพื่อไปตั้งตัว
เคสนักศึกษา ก่อนหน้านั้นก็เป็นนักศึกษา บัณฑิต กำลังจะจบการศึกษา พอศาลตัดสินจำคุกเข้าไปอยู่ในเรือนจำ พอออกมาก็เคว้งคว้างก็มี
หลายคนต่อสู้คดี ก่อนมีศูนย์ทนายความมาช่วย เขาต้องวิ่งเต้นหาทนาย หาหลักทรัพย์มาประกันกันเอง พยายามกู้หนี้ยืมสินมา เป็นปัญหาในทางเศรษฐกิจตั้งแต่อยู่ในกระบวนการการต่อสู้แล้ว พอพ้นโทษออกไป ก็ยิ่งมีปัญหาเศรษฐกิจและครอบครัว บางทีลูกเมียทิ้งก็มี หรือมีครอบครัวใหม่ พ่อแม่จากไป หรือตัวเองเสียชีวิตไป เช่น กรณี อากง112
นายกสมาคมเพื่อเพื่อนเปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคม 2560 ทั้งเดือนมีหลายเคสคดีความมั่นคงได้รับการประกันตัวและบางคดีไม่สั่งฟ้อง
“ช่วง ก.ค. ที่ผ่านมา มีทิศทางที่ค่อนข้างดี แต่จะบอกว่าดีก็ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก เช่น กรณีการคุมตัวชุดของทนายประเวศ (ประเวศ ประภานุกูล) จำนวน 6 คน ไม่ได้หมายความว่าเชื่อมโยงกันทั้ง 6 คน แต่หมายถึงทั้ง 6 คน ถูกดำเนินคดีไปพร้อมกัน หลังถูกฝากขังทั้งหมด 7 ผัด ปรากฏว่ามีเพียงทนายประเวศเท่านั้นที่ถูกสั่งฟ้อง ส่วนอีก 5 ราย ไม่ถูกสั่งฟ้อง ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว
นอกจากนั้น มีกรณีให้ประกันตัว ผู้ต้องหาชุดที่ถูกกล่าวหาคดีระเบิดหน้าศาลอาญารัชดา ทั้งหมด 4 ราย แต่คุณแหวนถูกดำเนินคดี 112 ต่อ ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกรอบหนึ่ง จึงได้รับอิสรภาพเพียงแค่ 3 ราย”
ปิยรัฐ มองว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ค่อนข้างน่ากลัว หลายคนไม่ทราบว่าคดีอาญาบางคดี ไม่สามารถเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติได้ โดยเฉพาะคดีทางความคิด หลายคดีเป็นไปตามกลไกของรัฐหรืออำนาจของรัฐ ที่สามารถกำหนดทิศทางได้ ในการที่จะให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน
หลายเคส เช่น “ชัชวาล” 1 ในผู้ต้องหาที่โดนพร้อมทนายประเวศ เป็นนักศึกษาเพิ่งจบจากรามคำแหง พ่อแม่เป็นชาวบ้านธรรมดา อยู่นครนายก พอลูกถูกดำเนินคดี 112 ปรากฏว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกชายไม่ได้ประกันตัว ทำไมไม่ให้สิทธิประกันตัวลูกชายเขา ทั้งที่คดีฆ่าคนตายมีสิทธิประกันตัว
รวมถึงคดีของผมเอง คดีฉีกบัตรประชามติ บทลงโทษโดยตัวมันเองแค่ 1-2 ปี แต่เพื่อให้เป็นไปโดยยากลำบากในการต่อสู้และประกันตัว ก็เพิ่มข้อหาการก่อกวนขัดขวางการใช้สิทธิออกเสียงซึ่งโทษ 10 ปี ทำให้การประกันตัว ต้องเพิ่มวงเงิน 10 เท่า จากประกันตัว 1 หมื่นบาทมาประกัน 2 แสนบาท ถ้าไม่มีเงินประกัน ผมก็ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ นี่ยกตัวอย่างกระบวนการที่มีการแซงชั่นบางอย่างโดยรัฐหรืออำนาจนอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมขึ้นไป ทำให้คดีทางการเมืองหรือทางความคิด เป็นคดีที่ค่อนข้างหนักหน่วงแต่สังคมไม่ทราบเรื่องนี้
“ปิยรัฐ” เล่าถึงอุปสรรคที่ต้องเจอระหว่างการทำงานของสมาคม หลายเหตุการณ์สมาคมขับเคลื่อนไปลำบาก เช่น การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ จากการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสมาคม เช่น กรณี “เอกชัย หงษ์กังวาล” เลขานุการสมาคม พอเขาไปเคลื่อนไหวทางการเมือง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็โยงใยมาว่าคนของสมาคมให้การสนับสนุนช่วยเหลือ
แม้กระทั่งการทำงานของสมาคมก็ไม่อิสระ หลายครั้งถูกตรวจสอบการทำงานโดยกรมการปกครอง กทม. ในการยื่นรายรับรายจ่ายว่ามีการใช้จ่ายเรื่องใดบ้าง ซึ่งเราไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เราบริสุทธิ์ใจมากพอให้ตรวจสอบ แต่เราหวังว่าจะไม่มีการแทรกแซง จึงทำงานรัดกุมเท่าที่จะเป็นได้
อุปสรรคต่อมา เราไม่มีอาสาสมัครมากพอจะมาทำงาน เพื่อเป็นตัวแทนเข้าเยี่ยมช่วยเหลือ เพราะการทำงานลักษณะนี้ ไม่ได้มีเงินมากมายตอบแทน และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าให้การสนับสนุนทางการเมืองกับผู้ต้องหาทั้งหลาย นอกจากนั้น กฎของเรือนจำ ก็มีส่วนเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ การส่งตัวแทนไปเยี่ยมค่อนข้างมีปัญหาจากกฎของเรือนจำ เช่น การเข้าชื่อ 10 รายชื่อ หรือ กรณีไผ่ ดาวดิน ไม่สามารถให้คนอื่นเข้าเยี่ยมได้ ยกเว้นพ่อแม่จะพาเข้าไปเยี่ยมได้เท่านั้น บางที่พ่อแม่ก็เข้าเยี่ยมไม่ได้ ต้องนามสกุลเดียวกัน เป็นลูกเมียในทางกฎหมายด้วย
สุดท้าย คนที่กระจุกตัวอยู่ใน กทม. จะได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีและทั่วถึงมากกว่าคนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองอยู่ต่างจังหวัดหรือภูมิภาคอื่น อันนี้ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ เพราะต้องใช้ทุนและอาสาสมัครจำนวนมาก
หลายเคสที่ชีวิตอยู่อย่างลำบาก เช่น ลี้ภัยไปต่างประเทศ สมาคมอยากจะช่วยเหลือเคสที่ลี้ภัยแต่ติดปัญหาทางกฎหมาย สมาคมจึงไม่สามารถช่วยได้ บางคนพ้นโทษแล้วก็อยู่ในประเทศไม่ได้ อาจถูกดำเนินคดีอื่นต่อไปเพราะกลไกของรัฐจะดำเนินคดีต่อเนื่อง บางเคสจึงหลบหนี เกิดเป็นผู้ลี้ภัย
สมาคมพยายามผลักดันให้กรณี “อัครเดช” เป็นโมเดลที่สามารถประกอบอาชีพประคับประคองตัวเองและครอบครัว โดยสมาคมทำร้านอาหารเล็กๆ ให้เขา เขาเป็นเคสที่ถูกจับกุมหลังรัฐประหาร หลังจำคุก 8 เดือนคุณพ่อก็ถูกกล่าวหาในคดีโยนระเบิดหน้าศาลอาญา ถูกขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่เดียวกับลูก พอ “อัครเดช” พ้นโทษมา ก็ไปเยี่ยมพ่อเขา เขาบอกว่าพ่อไปเยี่ยมทุกวันตอนเขาอยู่ในเรือนจำ ช่วงนี้กำลังหาเงินประกันพ่อ