กลุ่มมุสลิมสายกลางตั้งคำถามต่อรัฐบาลมาเลเซีย หลังมีการแบนหนังสือส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับมุสลิมสายกลางและประชาธิปไตย ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลกำลังเอาใจกลุ่มเคร่งศาสนาเพื่อเพิ่มคะแนนนิยมที่กำลังตกต่ำจากคดีทุจริตคอรัปชั่น
กลุ่ม G25 ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมมุสลิมสายกลางที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงเชื้อสายมาเลย์ ตั้งคำถามถึงการที่กระทรวงมหาดไทยมาเลเซียสั่งระงับการตีพิมพ์ จำหน่ายจ่ายแจก และห้ามการครอบครองหนังสือที่ทางกลุ่มเป็นผู้จัดทำเผยแพร่ ชื่อ "Breaking the Silence: Voices of a Moderation Islam in a Constitutional Democracy" หรือ "ทำลายความเงียบ: เสียงของอิสลามสายกลางในรัฐธรรมนูญใต้ระบอบประชาธิปไตย" โดยระบุว่าหนังสือเล่มดังกล่าว "สร้างความเสียหายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม"
หนังสือ "ทำลายความเงียบ: เสียงของอิสลามสายกลางในรัฐธรรมนูญใต้ระบอบประชาธิปไตย" ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2015 แต่เพิ่งถูกสั่งแบนทั่วประเทศ ห้ามตีพิมพ์ จำหน่วย ครอบครอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โฆษกของกลุ่ม G25 ยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบทความวิชาการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ของอิสลามในรัฐธรรมนูญของระบอบสหพันธรัฐ ไม่มีบทความไหนวิพากษ์วิจารณ์อิสลาม หรือแตะต้องประเด็นความศรัทธาเชื่อถือในศาสนา นอกจากนี้ทั้งหมดยังเป็นบทความที่เขียนโดยนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความรู้ความสามารถ จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดรัฐบาลมองว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นภัยต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ารัฐบาลของนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีจุดยืนที่ชัดเจนยาวนานในการส่งเสริมอิสลามสายกลาง
นอกจากนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวยังถูกตีพิมพ์และวางจำหน่ายมาแล้วเกือบ 2 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2015 โดยยังไม่เคยได้รับการร้องเรียนว่าผู้ที่อ่านหนังสือนี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายใดๆในสังคม เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมหนังสือดังกล่าวมากกว่าสั่งแบนหนังสือทั่วประเทศเช่นนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รัฐบาลพยายามสร้างภาพลักษณ์ในประชาคมโลกว่าเป็นผู้ส่งเสริมอิสลามสายกลาง แทนที่จะกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยการแบนหนังสือเล่มนี้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสมุสลิมเคร่งศาสนาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในมาเลเซีย และมีการบังคับใช้กฎหมายชารีอาอย่างเข้มงวดกว้างขวางขึ้นในหลายรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ที่ถูกมองว่าต้องการเอาใจกลุ่มเคร่งศาสนาและผู้นำศาสนาท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นฐานเสียงสำคัญ หลังจากรัฐบาลนายนาจิบมีคะแนนนิยมตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากข้อหาทุจริตคอรัปชั่น
แม้ว่ามาเลเซียจะไม่ได้ปกครองโดยกฎหมายชารีอาอย่างสมบูรณ์ แต่มีการบังคับใช้กฎหมายชารีอาในคดีที่มีโทษน้อย หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั่วไป โดยสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ รัฐสภามาเลเซียมีกำหนดการจะพิจารณาการแก้ไขกฎหมายศาลชารีอา ปี 1965 โดยมีการเสนอเพิ่มขอบเขตศาลชารีอาให้สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้มากขึ้น โดยศาลสามารถสั่งจำคุกผู้กระทำผิดได้ไม่เกิน 30 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 ริงกิต หรือ 780,000 บาท และเฆี่ยนได้ไม่เกิน 100 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าโทษที่กำหนดไว้ในระบบศาลปกติมาก