ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อชีวิตต้องเลือกเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองบนถนน ทำให้ชีวิตของ 'จตุพร พรหมพันธุ์' ประธาน นปช. ต้องเข้าเดินเข้าสู่ห้องคุมขังในเรือนจำ แลกด้วยความสูญสิ้นอิสรภาพถึง 4 ครั้ง

เมื่อชีวิตเลือกเส้นทางต่อสู้ทางการเมืองบนถนน ทำให้ชีวิตของ 'จตุพร พรหมพันธุ์' ประธาน นปช. ต้องเข้าเดินเข้าสู่ห้องคุมขังในเรือนจำ แลกด้วยความสูญสิ้นอิสรภาพถึง 4 ครั้ง


ติดคุกครั้งแรก

- 26 ก.ค.2550

คดีแรกที่ทำให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549  โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังนายจตุพร พร้อมแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เป็นเวลา 12 วัน ในคดีมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เนื่องจากชุมนุมปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550

- 6 ส.ค. 2550

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร พร้อมแกนนำ นปก. โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท พร้อมวางเงื่อนไขห้ามไม่ให้ผู้ต้องหากระทำผิดอีก 
      
ติดคุกรอบ 2

-12 พฤษภาคม 2554 

ศาลอาญามีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิสิต สินธุไพร 2 แกนนำ นปช. ซึ่งทั้งสองเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล การเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ เนื่องจากนายจตุพร และนายนิสิตขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2554 โจมตีรัฐบาลในขณะนั้น ทำให้นายจตุพรและนายนิสิตต้องเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

สำหรับนายจตุพร ก่อนหน้านั้นเคยได้เอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครองมาตลอด ทำให้ไม่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเหมือนแกนนำ นปช.รายอื่น แต่เมื่อมีการยุบสภาฯเมื่อปี 2554 ทำให้นายจตุพรพ้นจากความเป็น ส.ส.

-2 สิงหาคม 2554 

นายจตุพร  และนายนิสิตได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังต้องจองจำอยู่ในเรือนจำเกือบ 3 เดือน โดยศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสอง หลังทนายความยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยตัวคคนละ 1 ล้านบาท พร้อมห้ามจำเลยก่อเหตุอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย  โดยเวลาต่อมา นายจตุพรได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง

- 18 พฤษภาคม 2555 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยให้นายจตุพร พ้นจากความเป็น ส.ส. เนื่องจากนายจตุพร ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ตามรัฐธรรมนูญขณะนั้นกำหนดว่าผู้ถูกคุมขังโดยหมายของศาลไม่เป็นบุคคลมีสิทธิเลือกตั้ง 

แต่ภายหลังยุบสภาเมื่อปี 2554 นายจตุพรถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ทำให้เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และยังเป็นบุคคลต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้นายจตุพรสิ้นสุดจากสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ทำให้นายจตุพรต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ขณะนั้นในทันที

“ผมได้เตรียมใจมาตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยของศาลออกมาเช่นนี้ ผมก็ต้องยอมรับ ซึ่งจากนี้ไปจะทำหน้าที่ต่อไปอย่างปกติ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับชะตากรรม แต่ที่แน่ๆ ต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป” นายจตุพร กล่าวหลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ติดคุก รอบ 3 

-11 ต.ค. 2559
ศาลอาญา มีคำสั่งถอนประกัน นายจตุพร ในคดีก่อการร้าย ปี 2553 เหตุมีพฤติการณ์และกระทำการอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามที่ศาลอาญาได้กำหนดไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำตัวนายจตุพรเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที

ในครั้งนั้น ศาลอาญามีคำสั่งให้ยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนการประกันตัว นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายนิสิต สินธุไพร ในคดีเดียวกันด้วย

-10 มกราคม 2560  
นายจตุพร ต้องถูกคุมอยู่อยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 3 เดือน จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากทนายความของนายจตุพรได้ยื่นคำร้อง 7 ครั้งเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร 

โดยคำสั่งศาลสรุปว่า นายจตุพร จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่าสำนึกผิดในการกระทำของตนที่กระทำผิดข้อกำหนดและเงื่อนไขของศาลในการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่มีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็กอีก 4 คน อีกทั้งจำเลยป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดทางเดินปัสสาวะ มีค่าพีเอสเอในต่อมลูกหมาก โดยมีใบรับรองแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแสดง ศาลเห็นว่าจำเลยถูกคุมขังมา 3เดือน นับจากวันที่มีคำสั่งถอนประกัน จึงเชื่อว่าน่าจะทำให้จำเลยเข็ดหลาบจากการกระทำผิดข้อกำหนดและเงื่อนไขของศาลในการปล่อยตัวชั่วคราว

ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร โดยมีหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 600,000 บาท พร้อมห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ติดคุกรอบ 4

- 20 กรกฎาคม 2560
นายจตุพร ต้องเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษาฎีกาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาจากกรณีนายจตุพรได้ปราศรัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 

โดยศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก นายจตุพร 1 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้นายจตุพรต้องพ้นอิสรภาพเป็นครั้งที่ 4 

โทษจำคุก-หมดสิทธิลงสมัคร ส.ส.

ขณเดียวกัน'จตุพร' จะหมดสิทธิลงสมัคร ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญ ห้ามผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก  หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีถึงวันเลือกตั้งลงสมัคร ส.ส.

จากการต่อสู้ของประมุข นปช. จึงต้องแลกมาด้วยความสูญสิ้นอิสรภาพของตัวเองถึง 4 ครั้งในชีวิต

ภาพ Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog