องค์กรเอกชนเผยข้อมูลการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา โดยมีสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งอาการป่วยทางจิตก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย และสังคมจำเป็นจะต้องหาทางป้องกัน
การฆ่าตัวตายของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงลิงคินพาร์ก วงดนตรีนูเมทัลที่มีแฟนเพลงทั่วโลก เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพวิกฤตฆ่าตัวตายในสังคมอเมริกัน โดยผลสำรวจของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 พบว่าสถิติฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 121 ครั้งต่อวัน และเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
จิลล์ ฮาร์เควี-ฟรีดแมน รองประธานมูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ เปิดเผยกับเว็บไซต์นิวส์วีคว่า การฆ่าตัวตายของเชสเตอร์ เบนนิงตัน อาจมีผลเกี่ยวพันกับโรคซึมเศร้า รวมถึงประวัติที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศและการเติบโตมาในครอบครัวที่แตกแยก ซึ่งเป็นการอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ที่เขายอมรับกับสื่อด้วยตัวเอง และแม้ว่าจะยังไม่มีการรวบรวมสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างเป็นทางการในสหรัฐฯ แต่การทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าของคนอเมริกันจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มคนรอบข้างได้
ฮาร์เควี-ฟรีดแมนระบุด้วยว่า สื่อมวลชนต้องหลีกเลี่ยงการนำเสนอรายละเอียดการฆ่าตัวตายของคนมีชื่อเสียง เพราะอาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบในกลุ่มคนที่มีอาการซึมเศร้าหรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย ส่วนคนในสังคมต้องทำความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือประสบความสำเร็จมากมายเพียงใดก็ตาม คนรอบข้างควรสังเกตอาการคนใกล้ชิด ถ้าเห็นว่ามีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าให้รีบปรึกษาจิตแพทย์
ส่วนในกรณีของไทย มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเชสเตอร์เช่นกัน โดยมีผู้ระบุว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปและเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ แต่ผู้ใช้สื่อโซเชียลจำนวนมากแย้งว่าผู้เป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายอยู่นอกเหนือเหตุผล ซึ่งเรื่องนี้ 'พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ' ได้ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีว่า เราจะต้องแยกกรณีระหว่างคนทั่วไปกับคนป่วย เพราะแม้พระสงฆ์ที่ป่วยจนไม่อาจควบคุมตัวเองได้ทำผิดวินัยสงฆ์ ก็จะได้รับการยกเว้นโทษ กรณีของคนทั่วไปที่มีอาการป่วย ก็ไม่ควรถูกตัดสินด้วยเรื่องบุญบาป
นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ยังยืนยันว่าคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือด้วยอาการทางจิตอื่นๆ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาตัว ไม่ใช่หวังพึ่งการปฏิบัติธรรมอย่างเดียว เพราะเคยเกิดกรณีแม่ชีฆ่าตัวตายมาแล้ว โดยอ้างถึงกรณีที่แม่ชีรายหนึ่งไปปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่มีใครทราบว่ามีอาการป่วยทางจิต ทำให้แม่ชีต้องอยู่ตามลำพังกับตัวเอง และคนรอบข้างก็ไม่ได้สังเกตหรือดูแลใกล้ชิด จนในที่สุดก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: