ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด ประณามทุกรัฐบาลที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาชน โดยเป็นการอ้างถึงกรณีของนายหลิวเสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจีน ซึ่งถูกกักขังจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
มาลาลา ยูซาฟไซ ชาวปากีสถานวัย 20 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด แสดงความเห็นกรณีที่นายหลิวเสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนชาวจีน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากถูกรัฐบาลจีนคุมขังตั้งแต่ปี 2009 โดยมาลาลาได้กล่าวประณามทุกรัฐบาลที่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน พร้อมระบุว่า คนทั่วโลกจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่หลิวเสี่ยวโปต่อสู้และเชื่อมั่นมาตลอด ซึ่งก็คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ นายหลิวเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2010 ขณะที่มาลาลาได้รับรางวัลสาขาเดียวกันในปี 2014 และทั้งคู่เป็นนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยนายหลิวเรียกร้องประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลจีน ทำให้เขาถูกทางการจีนคุมขังในข้อหาบ่อนทำลายอำนาจรัฐ และไม่สามารถไปรับรางวัลโนเบลที่นอร์เวย์ได้ เมื่อเขาป่วยหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ปฏิเสธไม่ให้เขาเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ก่อน
ขณะที่มาลาลาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กหญิงในปากีสถานตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นเหตุให้กลุ่มติดอาวุธตอลิบานซึ่งมีแนวคิดจารีตนิยมยิงโจมตีเธอจนบาดเจ็บสาหัสในปี 2012 แต่รอดชีวิตมาได้ ซึ่งมาลาลายืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงต่อไป โดยจะเป็นปากเสียงให้กับหญิงชาวปากีสถานและผู้หญิงทั่วโลก อีกทั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหประชาชาติได้แต่งตั้งมาลาลาให้เป็น 'ผู้ส่งสาส์นสันติภาพ' อย่างเป็นทางการ และเธอยังเป็นผู้รับตำแหน่งดังกล่าวที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สำนักข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า หลิวเสีย ภรรยาของหลิวเสี่ยวโป ขาดการติดต่อกับเพื่อนฝูงและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนนานหลายวัน โดยครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นหลิวเสีย คือ วันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงปักกิ่งของจีนจัดพิธีลอยอังคารหลิวเสี่ยวโป หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดติดต่อหลิวเสียได้อีก
ขณะที่ผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียนซึ่งเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อขอพบหลิวเสีย ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบของจีนห้ามไม่ให้เข้าไปในอาคารที่พักอาศัยของหลิวเสีย ทำให้องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนกังวลว่าหลิวเสียอาจถูกทางการจีนกักบริเวณในบ้านพัก สวนทางกับคำยืนยันของโฆษกรัฐบาลจีนที่ยืนยันกับว่าหลิวเสียมีเสรีภาพที่จะไปไหนก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: