ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศออกแถลงการณ์กรณีศาลไทยพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา โดยย้ำว่ารัฐบาลไทยจะต้องนำตัวผู้ถูกออกหมายจับที่เหลือมาดำเนินคดี และให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่ยังถูกทางการไทยควบคุมตัวด้วย

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศออกแถลงการณ์กรณีศาลไทยพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา โดยย้ำว่ารัฐบาลไทยจะต้องนำตัวผู้ถูกออกหมายจับที่เหลือมาดำเนินคดี และให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่ยังถูกทางการไทยควบคุมตัวด้วย

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลไทยให้สร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนว่าการตัดสินคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่ศาลอาญาในวันนี้ดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งยังเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวเป็นพยานในคดีนี้ด้วย เนื่องจากมีรายงานว่าทางการไทยกักตัวพยานชาวโรฮิงญาในสถานที่ปิด ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการปล่อยตัวช่วงที่มีการสอบสวนดำเนินคดีในเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา

เนื้อหาในแถลงการณ์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า การตัดสินคดีค้ามนุษย์ในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกำจัดขบวนการค้ามนุษย์ เพราะยังมีผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้อีกเป็นจำนวนมากที่รัฐบาลไทยจะต้องสะสาง โดยชาวโรฮิงญาให้การว่ามีเหยื่อนับพันคนที่ต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนของขบวนการค้ามนุษย์ช่วงปี 2555 ถึง 2558 ก่อนจะมีการพบหลุมศพและค่ายกักกักชาวโรฮิงญาตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย และก่อนหน้านี้ทางการไทยออกหมายจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด 153 ราย แต่มีเพียง 103 รายที่ติดตามตัวมาดำเนินคดีได้

เอมี่ สมิธ ผู้อำนวยการฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า การตัดสินคดีในวันนี้ยังไม่ใช่การปิดคดีอย่างแท้จริงสำหรับชาวโรฮิงญาที่ถูกกันเป็นพยาน และรัฐบาลไทยต้องสอบสวนคดีที่ผู้เกี่ยวข้องถูกข่มขู่คุกคามด้วย ทั้งกรณีนายตำรวจซึ่งเคยนำการสอบสวนคดีต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ และกรณีที่ล่ามแปลภาษาในการสอบปากคำพยานถูกชายนิรนามโทรศัพท์ข่มขู่หลายครั้ง โดยล่ามคนดังกล่าวได้ยื่นเรื่องขอความคุ้มครองจากทางการไทยและถูกปฏิเสธ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความปลอดภัยที่บ้านอยู่เป็นระยะ

ด้านนายสุณัย ผาสุก นักวิจัยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า การฟื้นฟูเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากคดีค้ามนุษย์ทั้งหมดเป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้การดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งตรงกับข้อเสนอแนะในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Reports) จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยล่าสุดไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศเฝ้าระวัง เทียร์ 2 แต่ยังถือว่าดีขึ้นจากอันดับ เทียร์ 3 เมื่อปี 2557 และ 2558 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ ระบุว่าไทยไม่มีความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ยังลอยนวลพ้นผิดไปได้อีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ การปรับลดอันดับประเทศไทยในรายงานทิป รีพอร์ทของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2557 มีสาเหตุหลักจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานทาสและการทำประมงผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกของไทยอย่างหนัก และในปี 2558 สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเพราะพบหลักฐานการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศให้การแก้ปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระสำคัญระดับชาติแล้วก็ตาม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog