อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยัน การเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปของอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เพียง 1 ล้านบาทตามที่เป็นข่าว แจงอายุความติดตามเร่งรัดภาษี 10 ปี ยังมีเวลาดำเนินการ
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกรณีการเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ป เมื่อปี 2549 ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม ปีนี้ กรมสรรพากรได้นำหนังสือแจ้งประเมินภาษีการขายหุ้นชินฯ ของนายทักษิณ ชินวัตร มูลค่า 17,629 ล้านบาท ไปติดไว้หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้านั้น
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามหลักการกรณีมีผู้ติดค้างหนี้ภาษีอากร อายุความเร่งรัดติดตามภาษีมีเวลา 10 ปี และยืนยันว่า ได้ทำตามขั้นตอน หลักการทุกอย่าง ส่วนการยึดทรัพย์ หากมีหลักฐานครบก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ติดหนี้ค้างภาษีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ที่สุดแล้วการเรียกเก็บภาษีกรณีขายหุ้นชินคอร์ปฯ จะได้เพียงหลัก 1 ล้านบาทนั้น นายประสงค์ยืนยันว่า ไม่ใช่จำนวนดังกล่าว แต่ไม่สามารถบอกว่าจะได้เท่าไรได้
นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ได้รับการตรวจสอบพบว่าใช้ใบกำกับภาษี ปลอม โดยมีโทษอ้างตามมาตรา 37 ประมวลรัษฎากร ซึ่งจะเป็นโทษที่รุนแรงขึ้น คือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปีต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ
จากอดีตเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา กรมได้ผ่อนผันละเว้นการเอาผิดอาญากับผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม โดยหากนำมาคืน หรือ ใช้ไม่ไม่เกินร้อยละ 75 ก็จะยกเว้นโทษอาญาให้ ด้วยเชื่อว่า วิธียกเว้นโทษสำหรับคนทำผิดที่สำนักผิดจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ผ่านมา 20 ปีก็ยังมีการออกใบกำกับภาษีปลอมอยู่ ดังนั้นจึงต้องกำหนดโทษให้เข้มขึ้นแม้จะทำเพียงใบเดียวก็ต้องดำเนินคดีอาญา
อีกทั้งปัจจุบันมีระบบไอที ที่สามารถตรวจสอบเส้นทางการชำระเงินได้ ข้อมูลจึงเปิดเผยได้มากขึ้น ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการที่ปฏิเสธการวางเครื่องรับบัตร หรือ EDC (อีดีซี) ที่รัฐมีเป้าหมายวางเครื่องทั่วประเทศ 690,000 เครื่อง แต่ตอนนี้มีผู้ประกอบการรับวางเครื่อง EDC เพียง 9 หมื่นเครื่อง และส่วนที่เหลือระบุว่า ไม่วางเพราะกลัวสรรพากรไปตรวจนั้น จะเป็นกลุ่มที่เมื่อมาขอคืนภาษี กรมสรรพากรก็จะตรวจรายได้รายจ่ายของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ละเอียดขึ้น
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรยังกล่าวถึง ความคืบหน้าของแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากผู้ประกอบการค้าออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ หลังจากทำรับฟังความคิดเห็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเสร็จสิ้นเมื่อ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีเสียงตอบรับที่ดี
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะมีการออกกฎหมายควบคู่กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี เพื่อให้ข้อมูลของผู้ประกอบการที่ผ่าน 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอี สรรพากร เชื่อมโยงถึงกัน และคาดว่า กรมฯ จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนอัตราภาษีที่จัดเก็บ จะเสนอเป็นกรอบกว้าง คล้ายกับกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ส่วนกรอบอัตราภาษีที่จะจัดเก็บขอให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของฝ่ายนโยบาย ดังนั้น ขณะที่จึงยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้