“ร้านเขาบอกชัดๆ เลยเหรอคะว่าเป็นเกาหลีเหนือ?”
“อาหารอร่อยมั๊ย มีเพื่อนไปกินแล้วบอกไม่อร่อย?”
“ถ่ายรูปได้เหรอ เขาห้ามถ่ายรูปไม่ใช่เหรอ?”
“ในนั้นเขาเป็นสายลับกันหมดเลยหรือเปล่า?”
คำถามที่ส่งผ่านเป็นตัวอักษรในโซเชียลมีเดีย มีน้ำเสียงตื่นเต้นเจืออยู่ระหว่างบรรทัด เมื่อเห็นการโพสต์รูปอาหารและการแสดงของสาวๆ จากเกาหลีเหนือบนโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์
“เปียงยาง โอ๊คริว” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 100 กว่าสาขาทั่วโลกที่ดูแลโดยเครือแฮดงฮวา บรรษัทของรัฐบาลเกาหลีเหนือ เดิมตั้งอยู่ที่เอกมัย ซอย 4 แต่เพิ่งย้ายมาที่ใหม่ริมถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 25 กับซอย 27 บรรยากาศนั้นต่างไปอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด ป้าย “ห้ามถ่ายภาพ” ก็ปลาสนาการไปจากผนังกำแพงของร้าน ที่น่าตื่นเต้นกว่าป้ายที่หายไปก็คือ การย้ายร้านมาอยู่ริมถนน ติดกระจกใส ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมามองทะลุเข้ามาเห็นกิจกรรมภายในได้ชัดเจน และกิจกรรมที่ได้เห็นนั้นคึกคักมากอย่างยิ่ง
สาวๆ เอวบางร่างน้อย 6 นาง ต้องสลับทำหน้าที่ระหว่างการเป็นนักร้อง นักเต้น นักดนตรีทั้งสากลและดนตรีประจำชาติ สับเปลี่ยนชุดไปมาทั้งชุดประจำชาติ และชุดตามสมัยนิยมในช่วงทศวรรษที่ 80
ดนตรีนั้นเทน้ำหนักให้กับเครื่องสังเคราะห์เสียง จึงให้บรรยากาศของเพลงดิสโก้ยุค 80 แม้แต่ในยามที่พนักงานสาวบางรายเล่นคายากึม เครื่องดนตรีโบราณ หน้าตาคล้ายๆ พิณ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของเกาหลี ก็ยังคลอด้วยเสียงสังเคราะห์ที่ดังจนกลบเสียงคายากึมเอง
ในวันที่กองบ.ก. วอยซ์ทีวีออนไลน์พากันไปดื่มด่ำกับอาหารเกาหลีเหนือนั้น เราพบว่า มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนั่งอยู่ก่อนแล้วสิบกว่าคน ทุกคนดูกึ่มได้ที่ และสนุกสนานไปกับสิ่งที่ได้ดูและฟัง และผู้รับบริการทั้งไทยและญี่ปุ่น ก็ถ่ายภาพได้อย่างไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อย่างที่เคยเป็นเมื่อไม่กี่เดือนก่อนมานี้เอง
เราไม่ได้ถามเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ห้ามถ่ายภาพแล้ว แต่คิดกันเองว่าถึงห้ามไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะร้านก็ย้ายมาอยู่ข้างถนนติดกระจกใสจนเห็นทุกกิจกรรมภายในร้านอยู่แล้ว
คำถามจึงควรจะเป็นว่า ทำไมจึงย้ายมาที่นี่ต่างหาก แต่...เราก็ไม่ได้ถาม
สาวๆ พนักงานเสิร์ฟที่ต้องทำทุกอย่างรวมไปถึงการแสดงร้อง เต้น เล่นดนตรีด้วยนั้น เคยขรึมและมีระยะกว่านี้ แต่แม้จะย้ายร้านมาอยู่ที่ใหม่โปร่งใสกว่าเดิมจะดูยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น แต่ก็มีระยะและแอบ “ดุ” อยู่บ้าง เพราะเธอต้องทำตามหน้าที่ เช่น "อย่าเพิ่งสั่งอาหารค่ะ" แล้วเธอก็เดินขึ้นเวทีไปร้อง-เต้น ตามกำหนดเวลาเป๊ะๆ ที่วางไว้ จนจบการแสดงแล้ว จึงกลับมารับออเดอร์ได้ต่อไป
เมนูที่มีนั้น มีอาหารให้เลือกไม่หลากหลายนัก เมื่อเทียบกับอาหารเกาหลีที่คนไทยน่าจะรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ากันด้วยรสชาติแล้วไม่ผิดหวัง
เมนูหลักๆ ที่น่าลิ้มลองก็คงไม่พ้น เนื้อดิบ เนื้อย่าง หมูย่าง ซุปกิมจิ พิซซ่าเกาหลี มันดู(หรือเกี๊ยว) ที่มีไส้ให้เลือก ทั้งไส้กิมจิ ไส้หมู และมันดูทอด ที่น่าสนใจคือ หากใครคุ้นเคยกับอาหารเกาหลีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเคยไปกินที่เกาหลีใต้ย่อมคาดหวังว่ากิมจิ และผักเคียงต่างๆ นั้นเป็นของที่เสิร์ฟมาพร้อมอาหารและขอเติมได้เรื่อยๆ แต่ที่ร้านเปียงยางโอ๊คริวแห่งนี้ คุณจะต้องซื้อทุกอย่างที่คุณต้องการกิน ราคาอยู่ที่จานละประมาณ 170 บาท แต่รับประกันว่ากิมจิที่นี่รสชาติควรค่าแก่การสั่งมาลิ้มลองจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกิมจิผักกาด หัวไชเท้า หรือพริกหวาน
สำหรับคนที่ชินกับอาหารเกาหลีใต้ก็อาจจะคุ้นกับความหวานลิ้นที่เจือปนอยู่ในหลายเมนูที่มีรสชาติเผ็ดร้อน แต่สำหรับอาหารที่เสิร์ฟที่ภัตตาคารแห่งนี้ รสหวานเจือจางกว่า บ้างความเห็นก็ว่า อาจจะมีความเป็นขนานแท้และดั้งเดิมกว่า
หลายความเห็นว่าอย่างนั้น และในข้อเท็จจริงก็นำพาไปสู่ข้อสรุปคล้ายๆ อย่างนั้น ร้านอาหารเกาหลีเหนือในที่ต่างๆ ทั่วโลกนั้นดูแลโดยบรรษัทของรัฐบาลเกาหลีเหนือ เก็บเงินเข้าสู่คลังของรัฐ ปัจจุบันมีร้านอาหารเปียงยางอยู่ราวๆ 100 กว่าสาขาทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในจีน รองลงมาคือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกือบทุกประเทศมีร้านอาหารเกาหลีเหนืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เรื่อยไปถึงอินเดีย บังกลาเทศ
อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของร้านอาหารเกาหลีเหนือนั้นมักจะเปิดๆ ปิดๆ ย้ายสถานที่ในรอบ 3-4 ปีครั้ง ข่าวคราวเช่นนี้มีอยู่เนืองๆ แม้แต่ในไทยเอง การเปิดๆ ปิดๆ ย้ายร้านนี้ ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นเหตุผลทางยุทธศาสตร์ใดๆ หรือไม่ แต่ที่พอจะมีข้อมูลบอกได้คือ สาวๆ ที่ทำงานบริการในร้านเหล่านี้ มีอายุสัญญาประมาณ 4 ปี จากนั้นก็จะกลับบ้านพร้อมสวัสดิการไม่มากนัก
VOA ไทยเคยเผยแพร่บทสัมภาษณ์อดีตพนักงานบริการในร้านอาหารเกาหลีเหนือ ระบุว่า บริกรหญิงเหล่านี้จะต้องทำงานนาน 4 ปี และเมื่อครบกำหนดเดินทางกลับบ้าน จะได้รับเงินสด 2,500 ดอลลาร์ (ราวๆ 87,500 บาท) และเครื่องใช้ในบ้าน เช่น โทรทัศน์ หรือเครื่องซักผ้า เป็นต้น ระหว่างทำงานเธอจะต้องทำงาน 12 ชม. ต่อวัน แลกกับค่าตอบแทนประมาณ 10-15 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 1,000-1,450 บาท
บางคนอาจจะบอกว่าอย่าไปสนับสนุนการท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือ อย่าไปกินอาหารในร้านเกาหลีเหนือเลย เพราะนั่นคือการสนับสนุนอ้อมๆ ให้กับระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางความเห็นบอกว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเริ่มจากข้างใน และไม่มีอะไรจะดีไปกว่า เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คนให้เขาเห็นโลกข้างนอก และคนข้างนอก
แนวคิดที่แตกต่างกันนี้ อาจจะเป็นทางเลือกบนพื้นฐานอุดมการณ์และวิถีที่ต่างกันไป ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ร้านอาหารเกาหลีเหนือในประเทศจีนต้องปิดบริการเป็นบางครั้ง เพราะพนักงานเสิร์ฟหนีหายไป
สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่เคยมีข่าวว่าพนักงานบริการหนีออกจากร้าน แต่ไทยนี่เองที่เป็นประเทศเป้าหมายปลายทางของผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งเลือกจะใช้เป็นทางผ่านที่พวกเขาเชื่อว่าปลอดภัยที่สุด โดยส่วนมากเดินทางผ่านประเทศจีน ลาว หรือเมียนมา และเข้ามายังประเทศไทย ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้เพื่อแสวงหาโอกาสในการศึกษาและการทำงานต่อไป
ภายใต้บรรยากาศที่คุกรุ่นของคาบสมุทรเกาหลี ยังคงเป็นเกาหลีใต้นั่นเอง ที่เป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้องรอคอยให้ความช่วยเหลือพวกเขาอยู่
ล่าสุดนาย แท ยองโฮ อัครราชทูตของนักการทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงลอนดอน หายตัวไปก่อนจะขอลี้ภัยพร้อมครอบครัวไปยังเกาหลีใต้ เหตุเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2559
บางทีการปฏิสัมพันธ์ก็เปลี่ยนแปลงคนได้มากกว่าที่เราจะคาดคิด การเดินเข้าสู่ร้านอาหารเกาหลีเหนืออาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเรา มากเท่ากับที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวของพวกเธอที่รอคอยเสิร์ฟอาหารให้เราอยู่....หรือแย่ที่สุด มันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรใครเลย นอกจากอาหารอิ่มอร่อยหนึ่งมื้อ และการแสดงที่พาเราข้ามเส้นเวลาไปราว 30 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธการเจาะถุงเงินเกาหลีเหนือในอาเซียน
สายลับกิมจิ? อดีตลูกจ้างร้านเกาหลีเหนือเผยเบื้องหลังการใช้ร้านอาหารสืบข้อมูลลับ
สาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ชี้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ
North Korean Restaurant in China Shuts Down as Receptionist Escapes
North Korean staff at restaurant in third country defect to South