New Biz ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2560
AT Force เป็นเจ้าแรกที่ทำธุรกิจให้บริการเหยี่ยวไล่พิราบ เพราะมองเห็นปัญหานกพิราบที่ก่อความเสียหายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเริ่มให้เหยี่ยวไล่นกพิราบในโรงงานเมื่อปี 2554 ขณะนี้ AT Force มีลูกค้า 5-6 ราย และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มบุคลากรฝึกเหยี่ยวให้ได้อย่างน้อยปีละ 2 คน
กรงเล็บแหลมคม เกาะบนคอนธนู คือ อาวุธลับ เวลาที่เหยี่ยวต้องการล่าเหยื่อเพื่อเป็นอาหาร เหยี่ยวตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ถึง 1,000 กรัม ขนาดลำตัวยาว 46-59 เซนติเมตร และปีกยาว 45-50 เซนติเมตร ลำตัวสีดำ ปีกสีน้ำตาลอมแดง ปลายหางสีขาว และสายตาอันแหลมคม เป็นลักษณะโดดเด่นชวนสะดุดตา พวกมันมีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จนได้รับสมญานามว่า 'เหยี่ยวนักฆ่า' ด้วยลักษณะพิเศษนี้ จึงเกิดช่องทางธุรกิจ 'เหยี่ยวไล่นก'
โดย AT Force นำนกเหยี่ยวเหล่านี้ มาเข้าคอร์สฝึกฝนความสามารถ จนสามารถลงมือปฏิบัติงาน ได้ตามที่มอบหมาย
AT Falconry หรือ AT Force เป็นธุรกิจที่ให้บริการนกนักล่า เจ้าแรกในไทย ภารกิจหลักคือให้บริการไล่นกพิราบในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงสีข้าวต่างๆ
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ เกิดจากความชื่นชอบส่วนตัวของ 'นัฐวุฒิ ดีคล้าย' ก่อนจะเข้ามาศึกษาตลาดนกเหยี่ยวอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2002 ต่อมาอีก 8 ปี จึงนำเข้าเหยี่ยวผ่านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ ไซเตส อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อมาฝึกฝนให้เชื่อง ทำความรู้จักเหยื่อนกพิราบ ใช้เวลาฝึกประมาณ 2-3 เดือน ก็เตรียมออกทำงานได้ แต่ว่า การให้บริการในตอนนี้ จะรับงานได้ปีละ 2 โรงงานเท่านั้น เพราะรับประกันคุณภาพด้วย
ในงานไล่นกพิราบ AT Force จะเน้นการควบคุม มากกว่าการกำจัด เหยี่ยวจะเลือกเหยื่อที่อ่อนแอที่สุดก่อนบุกโจมตี เพื่อให้พิราบตื่นกลัวและบินหนีไป เมื่อนกพิราบตัวอื่นๆ เห็นว่ากำลังถูกล่า ก็จะเกิดความกลัวและทยอยบินหนีไปเอง
นอกจากรับงานบริการ นกเหยี่ยวในฟาร์มของนัฐวุฒิ ยังรับงานโชว์ตัวในงานอีเว้นท์ งานจัดแสดงสัตว์เลี้ยงตามสถานที่ต่างๆ ด้วย เพื่อสร้างการรับรู้และให้ความรู้แก่ผู้ที่ชื่นชอบเหยี่ยว เรียกว่า 'งานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่ว่างเว้น'
ปัจจุบัน AT Force มีลูกค้าเฉลี่ย 5-6 ราย เป้าหมายไม่ใช่เรื่องการนำเข้าเหยี่ยว แต่เน้นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มบุคลากรที่พร้อมปฏิบัติงานคู่กับเหยี่ยวคู่ใจ เพราะตอนนี้มีทีมงาน 4 ทีม ทีมละ 2 คน โดยตั้งใจเพิ่มให้ได้ปีละ 1 ทีม คนที่จะมาควบคุมและฝึกฝนเหยี่ยวได้ จะต้องมีความอดทน ใจเย็น และพร้อมเป็น 'คู่หูร่วมงาน' ต่างสายพันธุ์ไปด้วยกัน