ไม่พบผลการค้นหา
ปฏิรูปตำรวจ เคยสำเร็จเพียงครั้งเดียวในสมัยรัฐบาลทักษิณ ส่วนความพยายามครั���งอื่นๆ มักจบลงที่ได้ผลศึกษาอีกปึกหนึ่งมาใส่ไว้ในลิ้นชัก

อาจเพราะวาทะ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้เป็นตำนาน ที่ส่งผลให้ตำรวจไทยต้องโอบรับสารพัดภารกิจไว้กับตัว จนองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด นอกจากจำนวนบุคลากรจะทะลุ 2.2 แสนคน ยังได้รับงบสูงถึง 1 แสนล้านบาท คิดเป็นเกือบ 4% ของงบประมาณของประเทศ เลยทีเดียว

นับแต่ก่อตั้ง “กรมตำรวจ” อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ต.ค.2458 เคยมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรสีกากีนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ทำสำเร็จเพียงครั้งเดียวคือในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อมีการตรา พรฎ.โอน “กรมตำรวจ” ออกจากกระทรวงมหาดไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)” ให้เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในปี 2541 

ส่วนความพยายามครั้งอื่นๆ มักจบลงที่ได้ผลศึกษาอีกปึกหนึ่งมาใส่ไว้ในลิ้นชัก
 
นับแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 หลายคนก็หวังจะเห็นการปฏิรูปตำรวจเกิดผลเป็นรูปธรรม แต่แม้หลายหน่วยงานจะช่วยกันผลักดันสารพัดข้อเสนอ ทว่า ก็ต้องรอถึง 3 ปีเศษกว่าจะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ” อย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน พร้อมขีดเส้นตายว่าจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น

โจทย์ทั้ง 3 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบัน ให้ 36 อรหันต์ไปหาคำตอบ ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เคยมีงานศึกษาเป็นสิบๆ ชิ้นตั้งแต่อดีตรองรับไว้แล้ว อยู่ที่ว่าจะหยิบโมเดลไหนมาสานต่อ ไม่ว่าจะเป็น 

1.เรื่องโครงสร้างและภารกิจของ สตช. (ผลศึกษาส่วนใหญ่เสนอให้กระจายอำนาจ โดยอาจให้ตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ ไปขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ แทน และให้ถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ป่าไม้ รถไฟ ท่องเที่ยว ฯลฯ) 

2.เรื่องอำนาจในการสอบสวน (งานวิจัยหลายชิ้นเสนอว่า ควรจะแยกพนักงานสอบสวนมาตั้งหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระจาก สตช. รวมทั้งเสนอให้พนักงานอัยการควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานด้วย)

และ 3.เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย (เรื่องนี้มีอยู่หลายโมเดล คล้ายกับยังไม่ตกผลึก แต่ส่วนใหญ่จะเน้นให้ผู้แต่งตั้งนายตำรวจทำในรูปแบบของคณะกรรมการ และมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เช่น ถ้าแต่งตั้งแล้วให้อยู่ในที่เดิมอย่างน้อย 2 ปี หรือแบ่งเกรดโรงพักต่างๆ เป็นชั้นๆ ไปเลย และเริ่มไต่เต้าจากชั้นล่างมาสู่ชั้นบน ห้ามข้ามชั้น เพื่อป้องกันการวิ่งเต้น)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางประเด็นการปฏิรูปตำรวจใน “เรื่องใหญ่ๆ” ปรับโครงสร้าง หวังเด็ดยอด เขยื้อนภูเขา กลับมีบางหน่วยงานเสนอให้หันกลับไปปรับเปลี่ยนตั้งแต่ฐานราก คือเริ่มปฏิรูปตั้งแต่ “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” !

เช่น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งในปี 2558 เคยยื่นข้อเสนอปฏิรูปตำรวจที่จัดทำอย่างเป็นระบบ พร้อมระบุว่า วงการผู้ใช้กฎหมายในเวลานี้เกิดปัญหาตั้งแต่การ “ผลิตบุคลากร” โดยเฉพาะนายตำรวจสัญญาบัตรส่วนใหญ่ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 

“ซึ่งการเรียนการสอนจะมีลักษณะกึ่งทหาร มีการเรียนการสอนและอบรมในเชิงของวิชาชีพตำรวจค่อนข้างน้อย” รายงาน คปก.ระบุ

สำหรับวิธีแก้ปัญหา คปก. เสนอให้ยกระดับโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็น “สถาบันการศึกษาวิชาการของตำรวจ” มีหลักสูตรที่เน้นวิชาการตำรวจสมัยใหม่ (modern policing) ที่สำคัญ ต้องแยกการเรียนการสอนของตำรวจออกจากโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะวิธีคิด วิธีฝึกอบรม และลักษณะงานของทั้ง 2 องค์กร แตกต่างกัน

อาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ จาก ม.รังสิต เสนอให้เปลี่ยนโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็น police academy เน้นฝึกอบรมตำรวจให้เป็นวิชาชีพมากขึ้น

ขณะที่ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตํารวจ ก็ระบุว่า การแก้ปัญหาวงการตำรวจ มักไปแก้กันที่ปลายเหตุ แท้จริงควรเริ่มตั้งแต่ต้นเหตุ คือการผลิตคนจากโรงเรียนนายร้อย ซึ่งควรปลูกฝังคุณธรรม ให้ตระหนักในหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อประชาชน แต่ปัจจุบันยังฝึกอบรมแบบทหาร  “ทำให้ห่างเหินกับประชาชน และเห็นประชาชนเป็นลูกไล่”

ถือเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่น่าสนใจ ท่ามกลางทะเลข้อเสนอนับร้อยๆ ถ้าเราชอบพูดกันว่าการปฏิรูปคนในสังคม “ต้องเริ่มที่การศึกษา” เหตุใดการปฏิรูปตำรวจ ถึงจะไม่กลับไปเริ่มที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ 

เพราะหากทำถูกทางและจริงจัง ถึงจะเห็นผลช้า ไม่ทันตา ไม่ได้คะแนนนิยมจากประชาชนโดยทันที 

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะ “มั่นคง มั่งคั่ง ยืงยั่น” เช่นนโยบายที่ คสช. พูดมาตั้งแต่วันแรกๆ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog