ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมผู้ค้าต่างประเทศเขียนจดหมายถึงทางการไทย ชมเชยความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าได้ติดตามข่าวแรงงานพม่าที่มีรายงานว่าถูกละเมิดสิทธิแรงงานในไทยอย่างใกล้ชิด

สมาคมผู้ค้าต่างประเทศเขียนจดหมายถึงทางการไทย ชมเชยความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าได้ติดตามข่าวแรงงานพม่าที่มีรายงานว่าถูกละเมิดสิทธิแรงงานในไทยอย่างใกล้ชิด

นายคริสเตียน อีเวิร์ท ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าต่างประเทศ (FTA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งในเบลเยียม โดยมีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ค้าปลีกและส่งออกในยุโรปกว่า 2,000 แห่ง ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม ลักเซมเบิร์กและสหภาพยุโรป โดยย้ำถึงความร่วมมือด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงความเห็นกรณีแรงงานพม่าในฟาร์มไก่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นอดีตฟาร์มที่ส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร

นายอีเวิร์ทกล่าวถึงกรณีแรงงานพม่า ที่เคยทำงานให้กับฟาร์มไก่ธรรมเกษตรในจังหวัดลพบุรี อดีตฟาร์มไก่ที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายย่อย ที่เบทาโกรรับไก่มาจัดจำหน่าย โดยในปี 2016 ได้มีการเปิดเผยว่า แรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คนมีสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม และถูกใช้แรงงานทาส ด้านฟาร์มไก่ธรรมเกษตรได้ฟ้องร้องเอาความกับกลุ่มแรงงานและนายอานดี ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานพม่ากลุ่มนี้ โดยนายอีเวิร์ทกล่าวว่า ทางสมาคมได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่าเสรีภาพในการพูดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่แรงงานและนักสิทธิมนุษยชนใช้เพื่อแสดงความเห็นของตน  และย้ำว่า กรณีนี้ควรมีการพูดคุยที่เปิดเผยและเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ส่วนการเข้าไปตัดสินพิจารณาของศาล อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างเสียเปรียบและอาจก่อผลกระทบด้านชื่อเสียงได้

นายอีเวิร์ทกล่าวว่า ใน2-3เดือนที่ผ่านมา ไทยมีความเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องและเป็นไปในเชิงบวกในด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและสิทธิแรงงาน โดยรัฐบาลไทยได้กระตุ้นให้บริษัทต่างๆเคลื่อนไหวแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงานในภาคการเกษตรของไทย ยังคงถูกวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพนัก

นอกจากนี้ สมาคมยังย้ำถึงความสำคัญต่อแนวปฏิบัติด้านสังคมและแรงงาน (BSCI) ที่ทางสมาคมฯได้คิดค้นขึ้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่มีความสำคัญต่อเครือข่ายซูเปอร์มาเก็ตสัญชาติยุโรป  17 แห่ง ที่เป็นลูกค้าใหญ่ต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และประมงของไทย  โดยขณะนี้ ไทยเป็นตลาดแหล่งวัตถุดิบและแหล่งจำหน่ายสินค้าสำคัญของบริษัทผู้เป็นสมาชิกขององค์กร เช่น สินค้า อาหารทะเล หรือ เครื่องนุ่งห่ม และสมาชิกของสมาคมฯยังซื้อวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆจาากบริษัทสัญชาติไทยกว่า 300 แห่ง

เรื่องราวการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่ลพบุรี ถูกแชร์ไปทั่วโลกโดยสื่อต่างชาติหลายสำนักอย่าง The Guardian และเครือข่าย NGO ที่มีการเปิดโปงว่ามีการใช้แรงงานทาส ทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการยึดเอกสารประจำตัวโดยนายจ้าง ขณะที่แรงงานฟ้องร้องไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกสม. ปรากฏว่า กสม.มีมติยืนยันว่าจากการสอบสวน พบว่าฟาร์มไก่ธรรมเกษตรไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนข่ายใช้แรงงานทาส หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานในประเด็นการไม่จ่ายค่าแรงตามกฎหมาย และไม่จ่ายค่าล่วงเวลาวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด 

ขณะที่เจ้าของบริษัทธรรมเกษตรได้ให้ข้อมูลกับ Voice TV ก่อนหน่านี้ ยืนยันว่าไม่เคยมีการกักขังแรงงาน คนงานทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างดี มีที่อยู่ที่เหมาะสม และมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี การทำงานถึงวันละ 20 ชั่วโมงเป็นไปไม่ได้ เพราะไก่ต้องนอนวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนี้ ทางบริษัทยังดำเนินการตามมาตรฐานยุโรป เพราะทำธุรกิจส่งออกไก่ไปยังยุโรป จึงเป็นไม่ได้ที่จะมีการละเมิดแรงงานร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog