ไม่พบผลการค้นหา
รู้จัก 'นพชูส์' ร้านรองเท้าเก่าแก่ของคนที่อาศัยในสามย่านถึง 4 รุ่น ตั้งแต่ยุคการเช่าที่ดินจุฬาฯ สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้าได้ ขณะที่ปัจจุบันการให้อาศัยในลักษณะดังกล่าวมีน้อยลง ควบคู่กับความเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องจับตาว่าร้านเก่าแก่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จะมีสถานะอย่างไร

รู้จัก 'นพชูส์' ร้านรองเท้าเก่าแก่ของคนที่อาศัยในสามย่านถึง 4 รุ่น ตั้งแต่ยุคการเช่าที่ดินจุฬาฯ สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้าได้ ขณะที่ปัจจุบันการให้อาศัยในลักษณะดังกล่าวมีน้อยลง ควบคู่กับความเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องจับตาว่าร้านเก่าแก่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จะมีสถานะอย่างไร

 


จากพื้นที่ที่อยู่ในตำแหน่งนอกเมือง เป็นสลัม บ้านไม้ ห้องแถวไม้ สิ่งปลูกสร้างครึ่งปูนครึ่งไม้ เปลี่ยนเป็นตึกปูน อาคารพาณิชย์ จนกระทั่งกลายเป็นตึกสูงในเขตใจกลางเมืองอย่างในปัจจุบัน 


'สามย่าน-สวนหลวง' ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการใช้สอยพัฒนาตัวเองจากการทำงานหนักของคนหลายยุคซึ่งมาเช่าที่ดินแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ทางการค้าหลายรุ่น 

 


กระทั่งถึงยุคที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น ผู้เช่าได้ย้ายตำแหน่งแห่งที่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามการพัฒนาของสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ซึ่งปรับปรุงการใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมเพื่อหารายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยในอีกหลากหลายรูปแบบ 


บางร้านออกไปเริ่มต้นใหม่ในที่แห่งอื่นนอกเขตสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ บางร้านยังพอมีโอกาสหาที่ทางได้อยู่อาศัยและทำการค้าในย่านแห่งนี้ต่อไป แม้อนาคตยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความผูกพันแห่งนี้นานแค่ไหน  


ร้านนพชูส์ คือหนึ่งในตำนานสามย่าน เป็นร้านรองเท้าที่สามารถบอกได้ว่า “รับใช้จุฬาฯ มาเป็นเวลา 100 ปี”  

 


“นพพร ลีเลิศยุทธ์” เจ้าของร้านนพชูส์ในวัย 67 ปี เล่าว่า  ครอบครัว “ลีเลิศยุทธ์” ได้อยู่อาศัยและทำการค้าในย่านนี้มาถึง 4 เจนเนอเรชั่น โดยตัวเองเป็นรุ่นที่ 3 จากรุ่นแรกคุณปู่เป็นคนจีนที่มาทำถังไม้ใส่น้ำ ทำทั้งถังล้างจานและถังใหญ่ๆ ที่ใช้ในโรงงานฟอกหนัง เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ถ้าทำไม่ถูกต้องน้ำจะรั่วออกจากถังได้ 

 

ชายตรงกลางชื่อหลุน (รุ่นที่ 1) พาภรรยาและแม่ยายอพยพจากอำเภอเฟิงซุ่น มณฑลกวางตุ้ง
เข้ามากรุงเทพสมัย รัชกาลที่ 6 ซ้ายคือสุดลูกชายคนโตชื่อ หยิวฟุก (รุ่นที่ 2) เป็นพ่อของคุณนพพร เจ้าของร้านนพชูส์

 

รุ่นต่อมาคือรุ่นคุณพ่อ ได้ทำงานในโรงงานรองเท้าล่อจิ้นเส็ง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำรองเท้าให้ทหารญี่ปุ่นและยังเคยทำรองเท้าส่งทหารจีไอในจังหวัดภาคอีสาน จุดที่เคยเป็นโรงงานรองเท้าในปัจจุบันก็คือสนามศุภชลาศัยนั่นเอง

 

ส่วนตัวเป็นรุ่นที่ 3 ทันได้เห็นตั้งแต่แถวนี้ตั้งแต่เป็นบ้านไม้ ห้องแถวไม้ จนกระทั่งเป็นตึกปูนอาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ส่วนลูกชายเรียนจบมหาวิทยาลัยระดับปริญญาโท ได้เรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันทำงานหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์

 

 

“ตอนเด็กๆ ผมเคยวิ่งขายไอติม โรตีสายไหม ยกก๋วยเตี๋ยว เพราะบ้านจน ต้องทำทุกอย่าง พ่อทำงานคนเดียว มีลูก 8 คน ผมเป็นคนที่ 2 ผมเรียนจบป.4 ก็มาช่วยพ่อทำรองเท้า ก่อนทำรองเท้าเคยไปช่วยปู่ขนไม้ ได้เงินมาสลึงนึงไปซื้อขนมกินตามประสาเด็ก 

ผมเป็นคนเดียวที่ไม่เรียนต่อ ร้านผมทำรองเท้าได้หมดทั้งเท้าปกติและไม่ปกติ บางคนมีนิ้วเท้ามากกว่าคนปกติ 

 


 
ตอนเด็กๆ ผมเคยเอาถั่วต้มไปขายในสวนลุมพินี โดนจับไปขังในห้องน้ำเพราะเขาไม่ให้ขาย ผมโดนจับแล้วผมก็ร้องไห้
 
ปู่เคยเช่าที่จุฬาฯ ซอย 6 ปัจจุบันคือซอย 9 พ่อผมเกิดเยาวราช แล้วย้ายมาอยู่นี่ รุ่นผมกับพ่อเคยอยู่ตรงที่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ  

นิสิตจุฬาฯ อาจารย์จุฬาฯ หรือใครทำงานจุฬาฯ มาตัดรองเท้าร้านเรา เราคิดราคาพิเศษเลย เพราะเราอาศัยที่จุฬาฯ อยู่ 

ผมอยู่มาตั้งแต่ยังไม่มีน้ำปะปาครบทุกบ้าน เราเป็นเด็กตัวเล็กๆ ต้องไปหาบน้ำมา เมื่อก่อนเป็นบ้านไม้ แถวนี้เกิดไฟไหม้บ่อย 

ตรงสนามกีฬาฯ สมัยก่อนเป็นโรงงานล่อจิ้นเส็ง ทำรองเท้าส่งให้ญี่ปุ่น ร้านทำรองเท้าเก่าแก่ยี่ห้อดังๆ ในปัจจุบัน สมัยก่อนเคยเป็นคนทำรองเท้าที่นี่หมด ทุกคนก็รู้จักกันหมด พอหมดสงครามแล้วก็ออกไปเปิดร้าน ต่างคนต่างไปเปิดร้าน 

 

 

บ้านผมจะเก่งเรื่องทำรองเท้าให้ทหารตำรวจ เพราะพ่อผมเกิดมาก็ทำรองเท้าบูท ที่บ้านก็เคยทำส่งไปโคราช อุดร ตอนทหารจีไอมารบ พ่อผมก็ทำไปส่ง สมัยก่อนลำบาก เงินสดก็ไม่มี มีแต่เช็ค 

 
รองเท้าที่ทำด้วยมือจะทำละเอียดกว่า เราดูเผินๆ มันจะหยาบเพราะต้องตอกตะปู แล้วใช้มือดึงออก ก็จะเป็นรูตะปู แต่ละคู่ต้องมีตะปูทุกอัน แต่การทำรองเท้าด้วยเครื่องจะไม่มีรูตะปู เขาดึงแบบใช้กาวดึง แต่ของเราใช้มือ ดึงเสร็จให้ค้างคืนนึง แล้วค่อยมารื้อ จะยากตรงนี้ 

 

รองเท้าของเราต้องใช้หนังหมด เราใช้มือตัด ของสมัยนี้ใช้เครื่องปั๊ม ข้างในใส่กระดาษ ทำส้นด้วยกระดาษอัด แต่ของเรา ใช้ยางแท้หมด คู่หนึ่งใช้ได้หลายปี ใช้มือตัดขึ้นมา 

 

การทำรองเท้าแบบใหม่ใช้แก๊ส ใช้ความร้อนเหมือนย่างทำให้ร้อน ถ้าร้อนเกินจะกรอบ ส่วนของเราเอาไปตากแดด

รองเท้าหนังขัดมันจะแข็งหน่อย ถ้าหนังนิ่มก็คือ ใส่ทั่วไป ถ้าข้าราชการส่วนมากจะขัดหนังให้มันก็จะแข็งกว่าหน่อยหนึ่ง ร้านเราใช้อย่างดีก็นิ่มเหมือนกัน”

 

 

เจ้าของร้านในตำนานแห่งสามย่าน เล่าถึงความผูกพันในที่แห่งนี้ว่า 

 

“ผมไม่เคยไปอยู่ที่ไหนก็อยู่แต่ที่นี่ ผมอยู่ตั้งแต่เกิด สมัยก่อนหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมนินี ยังเป็นคลองไปถึงประตูน้ำ ผมเคยไปว่ายน้ำ ปัจจุบันเป็นถนน 

ปีที่เปลี่ยนจากบ้านไม้เป็นตึกก็ประมาณปี 2505 ผมเรียนจบ ป.4 ก็โดนรื้อ บ้านเดิมคือจุฬาฯ ซอย6 เดี๋ยวนี้เป็นซอย 9 ตรงที่ขายโจ๊ก แล้วก็ย้ายมาอยู่สนามกีฬาฯ ที่มีตั้งศาลพระภูมิ 

ผมเรียนโรงเรียนปทุมวัน หลังโรงพักปทุมวัน เมื่อก่อนข้างๆ โรงเรียนเป็นโรงรถราง กลางคืนรถรางก็เข้ามาจอด ตอนนี้ผมอายุ 67 ปี 

 

 

เมื่อก่อนผมก็อยู่ตรงนั้น 20-30 ปี พอจุฬาฯ เขาจะใช้ที่ดิน เราก็ย้ายมาอยู่นี่ เพราะลูกค้าอยู่แถวนี้หมด เราก็ย้ายมาเรื่อยๆ เรามีลูกค้าขาประจำ แม้แต่ท่าน “จงรัก” ตัดรองเท้ากับผมตั้งแต่เป็นร้อยตรี เดี๋ยวนี้เป็นพลเอก เกษียณไปแล้วก็ยังมาที่นี่บ่อย(พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ท่านพงศพัศ ก็ตัดที่นี่เหมือนกัน (พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ - รอง ผบ.ตร.) 

อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (รัฐศาสตร์ จุฬาฯ) อาจารย์ไชชันต์ (ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร รัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ก็มาตัดรองเท้าที่นี่ 

ร้านปูสมบูรณ์ โจ๊กสามย่าน ก็อยู่แถวนี้ ตอนเด็กๆ ซื้อกินบ่อย เดี๋ยวนี้บ้านแทบจะไม่มี กลางคืนต้องรีบปิด เมื่อก่อนมีตลาด ผมปิดร้านห้าทุ่ม เดี๋ยวนี้ปิดตั้งแต่ทุ่มนึง เปิดดึไม่ได้ มันอันตราย 
 

ก็รู้สึกน่าใจหาย เราอยู่มาตั้งแต่คนเยอะๆ แล้วก็ไม่มีคน แต่เดี๋ยวนี้ลูกชายก็ช่วยขายทางอินเตอร์เน็ต 

 

 

ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้มีการอนุรักษ์ของเก่าๆ ส่วนหนึ่ง เช่น จัดที่ให้คนที่อยู่เก่าๆ สักที่ 

ครอบครัวผมเรียกว่าอยู่เป็น 100 ปีแล้ว อยู่ตั้งแต่ปู่ผม สมัยก่อนจะเป็นสลัม แล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราก็หาที่ใหม่อยู่ไปเรื่อยๆ  ตัดรองเท้าให้คนในจุฬาฯ ทั้งอาจารย์ นิสิต และยาม เราบริการจุฬาฯ มาเกือบ 100 ปี มีอะไรเราก็รับใช้” เจ้าของร้านนพชูส์กล่าว 

 

ระหว่างสัมภาษณ์ร้านเก่าแก่แห่งนี้ มีลูกค้าประจำรายหนึ่งเป็นสุภาพสตรีพาลูกชายคนเล็กในวัยเรียนมหาวิทยาลัยมาเลือกรองเท้า เธอบอกว่า ซื้อรองเท้าร้านนพชูส์ ปีนี้เป็นปีที่ 9 โดยรู้จักร้านนี้ตอนลูกคนแรกเข้ามหาวิทยาลัย เดิมมีปัญหาต้องซื้อรองเท้าบ่อยทั้งบ้านเพราะรองเท้ากัด รองเท้าพัง พื้นสึกง่าย ใส่แล้วเจ็บ ทั้งที่คู่ราคาเป็นพันๆ แต่พอมาเจอร้านนี้ ซื้อคู่แรกใส่ก็ไม่มีอาการเจ็บเท้า พื้นนุ่ม รองเท้าหนังใส่ได้หลายปี พอรองเท้าพังร้านนี้ก็ซ่อมพื้นได้ ไม่พอดีก็แก้ให้  หลังจากนั้นก็ซื้อแต่ร้านนี้ ไม่ไปซื้อที่ห้าง วันนี้พาลูกคนที่ 3 มาซื้อ เป็นคนเล็กเข้ามหาวิทยาลัย 

 

 

“ถ้าซื้อในห้างจะไม่ทนแล้วราคาแพง ขนาดเท้าไม่พอดี พื้นรองเท้าทำให้เจ็บ แต่ร้านนี้รองเท้าใช้ดี ซื้อทีละ 2-3 คู่ ใส่ไปทำงาน ไปงานเลี้ยง ที่ห้างคู่ละสามพัน แต่ร้านนี้คู่ละพันกว่าบาทราคาไม่แพง 

ลูกค้าร้านนี้เจาะจงมาที่นี่ ทั้งตำรวจ ทหาร ครูบาอาจารย์ มาที่นี่หมด พอคนซื้อที่นี่ก็ไม่ซื้อที่อื่น นี่ถ้าแกไม่ทำต่อก็เครียดนะ จะไปเอารองเท้าที่ไหนใส่” 

 

 

เมื่อถามว่าหากจุฬาฯ จะใช้พื้นที่เป็นอย่างอื่น เธอบอกว่า เป็นสิทธิของจุฬาฯ ส่วนตัวในฐานะลูกค้าก็จะตามไปซื้อ 

“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้จุฬาฯ เขาอนุรักษ์ไว้ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้หรอก โลกมันเปลี่ยน แต่ถ้าใครเห็นคุณค่าร้านนี้ ก็ให้แกไปอยู่ที่ดีๆ หน่อย จะได้ไปหาถูก ไปอยู่ไหนเราก็ตามไป” ลูกค้าประจำกล่าว
 

(ร้านนพชูส์ ตัดรองเท้าฟรีให้คุณนุ้ย 2 คู่ เป็นรองเท้าสำหรับคนที่ไม่มีนิ้วเท้า หลังจากทราบว่าคุณนุ้ยซึ่งเป็นคนสู้งานเรียนจบปริญญาตรีทำงานได้ทุกอย่าง แต่เคยซื้อรองเท้าที่อื่นในราคาสูงถึง 4 พันบาท)  

 

สำหรับร้านนพชูส์ ตั้งอยู่ปากซอยจุฬาฯ 15 ใกล้แยกสามย่าน เฟซบุค NOP SHOES 


ติดตามเรื่องราวของชาวสามย่าน ผ่านประสบการณ์ของคน 3 รุ่น เร็วๆ นี้  

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog