อย.เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบกรณี ดญ.ทานดักแด้อบกรอบแล้วเกิดอาการแพ้ แน่นหน้าอกหายใจติดขัด มีผื่นคันจนต้องเข้าโรงพยายาล คาดร่างกายอาจได้สารฮีสตามีนเกินไป ซึ่งสารฮีสตามีน พบมากในหนอน,ดักแด้
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์เรื่องเด็กหญิงคนหนึ่งทานขนมดักแด้อบกรอบ รสบาร์บีคิว ยี่ห้อหนึ่ง หลังจากนั้นเกิดอาการปวดท้อง มีผื่นคันตามร่างกาย แน่นหน้าอก จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการดังกล่าวอาจเป็นอาการตอบสนองที่มาจากสารฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน รวมถึงการทำงานทางสรีรวิทยาของร่างกาย เช่น การกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรด การหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบทั่วร่างกาย กระตุ��นการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งสารนี้พบทั่วไปในอาหาร และจะพบมากในอาหารที่มีโปรตีนฮีสติดีนสูง เช่น ปลา ชีส เนื้อสัตว์และแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาหารมีการปนเปื้อนแบคทีเรียบางชนิดที่สามารถเปลี่ยน กรดอะมิโนฮีสติดีนไปเป็นฮีสตามีนได้ โดยปริมาณฮีสตามีนที่พบในอาหารทั่วไปคือ 100-200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ในสัตว์บางประเภท เช่น หนอนตัวต่อและดักแด้หนอนไหมอาจพบมากถึง 875 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งระดับที่ทำให้เกิดอาการต่อผู้บริโภคอยู่ที่มากกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของปลา เรียกว่า สคอมโบรทอกซิน ซึ่งพิษดังกล่าวเป็นสารพิษที่ทนต่อความร้อนและก่อให้เกิดการแพ้โดยพบอาการผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรืออาการอื่น ๆ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในผลิตภัณฑ์อาหารอาจพบได้จากวัตถุดิบที่มีปริมาณฮีสตามีนในธรรมชาติ หรือจากกระบวนการผลิตที่มีการคัดเลือกวัตถุดิบหรือเก็บรักษาไม่เหมาะสมทำให้แบคทีเรียบางชนิดเติบโตและสามารถเปลี่ยนกรดอะมิโนฮีสติดีนไปเป็นฮีสตามีนในปริมาณที่สูงขึ้น และก่อให้เกิดพิษขึ้นได้
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดัวกล่าว เพื่อตรวจสอบกระบวนการรับและเก็บรักษาวัตถุดิบ รวมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของสารฮีสตามีน หากไม่เป็นไปตามที่กำหนดจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ในส่วนของผู้บริโภคทั่วไปสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์ดักแด้หนอนไหมได้ แต่หากผู้บริโภคเป็นโรคภูมิแพ้หรือมีประวัติภูมิแพ้หรือหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายหากได้รับปริมาณ สารฮีสตามีนแม้เพียงเล็กน้อย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานด้วย
หากตรวจพบสถานที่ผลิตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากตรวจพบสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากตรวจพบการแสดงฉลากไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท