กระทรวงศึกษาธิการ เคาะกลับไปเรียนครุศาสตร์ 4 ปีแทน 5ปี หมือนเดิม ต้องสอบใบวิชาชีพแทนได้อัตโนมัติ คาดเริ่มปีการศึกษา61
วานนี้ ( 3ก.ค.) เกิดเรื่องใหญ่ในวงการการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ตามที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท. )เสนอให้กลับไปผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี โดยจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องสำคัญ ๆ ให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็น การปรับมาตรฐานการผลิตครู ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ดำเนินการอยู่ รวมถึงจะต้องดำเนินการปรับมาตรฐานหลักสูตรการผลิตครู ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) และสุดท้ายคือการ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน จากหลักสูตรครู 5 ปี กลับไปเป็นหลักสูตรครู 4 ปีเหมือนเดิม
คำถามเกิดมากมายทั้งกรณีที่นักศึกษาที่กำลังเรียนครุศาสตร์หลักสูตร 5 ปีที่อยู่ระหว่างปีการศึกษา 2561 จะทำอย่างไร? มาตรฐานทางวิชาชีพระหว่างครู 4ปี และครู 5 ป๊ แตกต่างกันหรือไม่? ทางนพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ไปจัดทำข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ การปรับมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งเดิมมีทั้งหมด 11 มาตรฐาน มาเป็นมาตรฐานที่อิงสมรรถนะมากขึ้น ส่วนที่สองคือ การปรับวิธีการได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จากเดิมผู้ที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยอัตโนมัติมาเป็น การสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯแทน และที่สำคัญคือ การปรับหลักสูตรจากหลักสูตรผลิตครู 5 ปี เป็นหลักสูตรผลิตครู 4 ปี แต่จะต้องเป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน รวมถึงจะต้องดูแลไม่ให้ผู้ที่เรียนในหลักสูตรครู5 ปีเสียสิทธิ์
เพราะหลักสูตรต้องมีแผน เพราะครุศาสตร์ไม่ใช่แค่โรงผลิตครู
ทางวอยซ์ทีวีพูดคุยกับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันผลิตครูให้กับประเทศ ผศ.อรรถพลกล่าวว่านโยบายกล่าวถูกชงจากสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยความเชื่อที่ว่าการเรียนครู 4ปี หรือ 5ปี ให้ผลที่ไม่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้ผลวิจัยมารองรับ ผศ.อรรถพลอธิบายว่าการเรียนครู 5 ปีนั้นเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 โดยเชื่อว่าการเรียนครูเพิ่มอีก 1ปี ทำให้ครูมีความรู้และประสบกาณณ์การฝึกสอนที่แน่นกว่า และยังมีความสอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่เพิ่มเติมเข้ามาในหลักสูตรอีกด้วย
เมื่อนโยบายดังกล่าวถูกชงขึ้นมาทางบอร์ดคุรุสภาก็รับเรื่องและรมว.ศึกษาธิการก็ประกาศใช้ในปี 2561 โดยส่วนตัวแล้ว ผศ.อรรถพลมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ทัน เพราะโดยปกติหลักสูตรจะมีทบทวนปรับปรุงทุก5ปี และในรอบปี 2561 อยู่ในช่วงการจัดทำหลักสูตร5ปี(ปรับปรุง พ.ศ.2557)อยู่แล้ว การที่ประกาศว่าจะกลับไปใช้หลักสูตร4ปีทันที นั้นไม่สามารถทำได้ทัน เพราะต้องมีการวางรายละเอียดของหลักสูตรใหม่อีกครั้งเพื่อพิจารณาให้รอบด้านก่อนประกาศใช้
ส่วนปัญหาเรื่องตลาดแรงงานครูจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน เมื่อรุ่นหลักสูตร 5ปี รหัส60 จะเรียนจบพร้อมหลักสูตร4ปีรหัส61 เนื่องจากในแต่ละปีสถาบันต่างๆผลิตครูได้รวม 40,000-50,000 คน แต่อัตราที่ว่างนั้นมีเพียงไม่ถึง 10,000 อัตราทำให้ปีที่ 2 รุ่นนี้จบพร้อมกันจะมีครูถึง 1แสนคนกับอัตราบรรจุไม่ถึง 10,000 อัตรา ทางที่ดีผศ.อรรถพลแนะนำให้เว้นการรับนักศึกษาครุศาสตร์รุ่นปี 2561 ไปก่อน เพื่อที่จะไม่เกิดภาวะครูล้นตลาด
ด้านความรู้สึกของนิสิตครุศาสตร์หลังจากทราบข่าว ผศ.อรรถพลกล่าวว่านิสิตก็ยังงงๆว่าต้องทำอย่างไรต่อไป หลายคนที่เข้ามาเรียนครุศาสตร์เพราะมองถึงด้านความมั่นคง และอยากกลับไปบรรจุข้าราชการครูที่บ้านเกิด แต่พอเกิดกรณีดังกล่าวก็สร้างความสับสนเป็นอย่างมาก
ต้องคอยจับตาว่าในปีการศึกษา 2561 จะสามารถประกาศใช้ได้จริงหรือไม่กับหลักสูตรครู 4ปี และการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของนโยบายส่งผลต่อครูที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างไรต่อไป