ไม่พบผลการค้นหา
จังหวัดสกลนคร มีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศถึง 5 ชนิด ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 900 ล้านบาท กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีแผนที่จะใช้สกลนคร เป็นจังหวัดนำร่องพัฒนาแหล่งผลิตสินค้า GI เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน

จังหวัดสกลนคร มีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศถึง 5 ชนิด ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 900 ล้านบาท กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีแผนที่จะใช้สกลนคร เป็นจังหวัดนำร่องพัฒนาแหล่งผลิตสินค้า GI เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน

เจ้าหน้าที่สหกรณ์ โคขุนโพนยางคำ คัดแยกเนื้อวัวที่ถูกแปรสภาพแล้ว เพื่อไปจำหน่ายให้ลูกค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ของจังหวัดสกลนคร เพราะเนื้อโคขุนโพนยางคำ เป็นเนื้อที่ผลิตจากโคเนื้อลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ไทยกับฝรั่งเศส มีเนื้อสีแดงสดใส มีระดับไขมันแทรก 3.5 ขึ้นไปตามมาตรฐานเนื้อโค เนื้อนุ่ม ไร้กลิ่นสาบ รสชาติดี 

สร้างชื่อเสียง ว่าเนื้อที่ดี มีคุณภาพ ต้อง“โพนยางคำ” แต่ก็เกิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการบางราย แอบอ้างนำเนื้อวัวทั่วไปมาหลอกขาย เกิดการปลอมปน เสียชื่อคุณภาพมาตรฐานเนื้อโพนยางคำ จนกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 

แต่หาก เนื้อโพนยางคำ ได้รับตราสัญลักษณ์ GIจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะกอบกู้ความเชื่อมั่นนี้ได้ เพราะการจัดทำระบบมาตรฐานสินค้า GI สามารถควบคุมคุณภาพด้วยการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ดึงกำลังการผลิตเนื้อเพิ่มขึ้นจาก 8 พันตัว เป็นหมื่นตัวต่อปี ส่วนรายได้หลังได้รับตรา GI จะเพิ่มจาก 1,200 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 1,500 ล้านบาท ภายในปีนี้ 

การมีตรา GI จะสงวนสิทธิ์สำหรับการเรียกชื่อสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในชุมชนเท่านั้น อีกทั้งเป็นการคุ้มครองสิทธิของชุมชน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ และวางแผนเจาะตลาดสินค้า GI เฉพาะกลุ่ม

นอกจาก "เนื้อโคขุนโพนยางคำ" ที่ตอนนี้ยังรอสัญลักษณ์สินค้า GI รับรองคุณภาพสินค้า จังหวัดสกลนคร ยังมีสินค้าอีก 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี , ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร , หมากเม่าสกลนคร และน้ำหมากเม่าสกลนคร ที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้เรียบร้อยแล้ว สร้างรายได้ให้กับชุมชนในปี 2559 รวมมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท 

กระทรวงพาณิชย์ จึงมีแผนที่จะให้สกลนคร เป็นจังหวัดนำร่องสำหรับการพัฒนาแหล่งผลิตสินค้า GI เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัด โดยใช้เอกลักษณ์เฉพาะตัวมาสร้างจุดขาย เช่น ถนนคนเดินผ้าคราม จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าครามธรรมชาติ ซึ่งจัดปีละครั้ง สร้างเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนในพื้นที่ 18 อำเภอ ของจังหวัดสกลนคร 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog