ไม่พบผลการค้นหา
AIC ออกแถลงการณ์แสดงความกังวล กสทช. ควบคุม OTT ทำประเทศไทยล้าหลัง ชี้ไม่มีการปรึกษาจากสาธารณะ-อาจขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยลงนาม ด้านกสทช.ยังไม่ตอบกลับ เตรียมนำเรื่องเข้าอนุกรรมการ OTT สัปดาห์หน้า 

AIC ออกแถลงการณ์แสดงความกังวล กสทช. ควบคุม OTT ทำประเทศไทยล้าหลัง ชี้ไม่มีการปรึกษาจากสาธารณะ-อาจขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยลงนาม ด้านกสทช.ยังไม่ตอบกลับ เตรียมนำเรื่องเข้าอนุกรรมการ OTT สัปดาห์หน้า 

จากกรณีที่ กสทช.ได้เชิญให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต Over The Top (OTT)มาลงทะเบียนภายในวันที่ 22 ก.ค.60 โดยขณะนี้เฟซบุ๊กและยูทูบ เป็นสองบริษัทที่ยังไม่ได้ติดต่อประสานงานกับ กสทช.ว่าจะมาลงทะเบียนเมื่อใด ซึ่งภายในวันที่ 22 ก.ค.60 หากไม่มาลงทะเบียนจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และบริษัทที่มีการโฆษณาบนเฟซบุ๊กและยูทูบก็จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายด้วย

จากนั้น เจฟฟ์ เพน กรรมการผู้จัดการสหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition) หรือ AIC องค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT แสดงความกังวลที่ประเทศไทยได้หันหลังให้กับนวัตกรรมด้วยข้อบังคับที่ กสทช. ได้นำเสนอให้กับการให้บริการในระบบ OTT ข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจและนวัตกรไทยเป็นอันดับแรก แต่กลับเพิ่มภาระด้านข้อบังคับ และอาจทำให้การเติบโตนั้นถูกจำกัดลง ทั้งยังเป็นการปิดกั้นคนและบริษัทสัญชาติไทยจากการใช้แพลทฟอร์มแบบเปิดในระดับโลกเพื่อสร้างธุรกิจออนไลน์ และยังคงกังวลว่ากฎดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยลงนาม โดยทาง AIC ได้ทำจดหมายส่งไปยัง กสทช.ดังนี้ 


 

ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตที่เสรีและเปิดเผย ทำให้ผู้บริโภค นักธุรกิจและผู้ผลิตคอนเทนท์ (เนื้อหา) ได้เติบโตขยายตัวไปทั่วเอเชียและโลก AIC และบริษัทที่เป็นตัวแทนมีความกังวลว่าข้อบังคับที่ กสทช. ได้เสนอในเรื่อง “บริการ OTT” จะส่งผลในทางลบให้กับประเทศไทย สร้างความไม่แน่นอนในการเกิดธุรกิจ ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำกัดการลงทุนในเศรษฐกิจภาคดิจิทัลของไทยที่กำลังโต พวกเรายังกังวลว่านโยบายใหม่ที่กำลังจะออกมาโดยไม่ผ่านการปรึกษาจากสาธารณะ ทั้งนโยบายยังไม่สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศของไทยที่จะเป็นทำลายความมั่นใจในการลงทุน

AIC ยินดีเข้าร่วมกับรัฐไทยในเรื่องข้อบังคับของ OTT อย่างไรก็ตาม กสทช. ไม่ได้เปิดเผยร่างข้อบังคับดังกล่าวต่อสาธารณชน เราได้ดูรายงานจากสื่อมวลชนที่รายงานว่า กสทช. จะให้บริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนเป็นบริการ OTT ภายในเวลา 30 วัน การเรียกลงทะเบียนดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาลงทะเบียนเพื่ออยู่ภายใต้การควบคุมโดยข้อบังคับซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ AIC จึงขอส่งเสริมให้ กสทช. เปิดเผยร่างข้อบังคับและมีกระบวนการปรึกษากับภาคส่วนสาธารณะอย่างโปร่งใสทันที

นอกจากนั้น กสทช. ยังได้มีการแถลงต่อสาธารณะว่าบริษัทที่ไม่ได้เข้าประชุมร่วมกับ กสทช. จะพบกับ “แรงกดดัน” หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไป ถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้เราคิดว่า กสทช. อาจจะสร้างแรงกดดัน หรือใช้วิธีทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ทำโฆษณาซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อสร้างแรงกดดัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม(ธุรกิจดิจิทัล - ผู้สื่อข่าว) ตกที่นั่งลำบากในฐานะที่ต้องพบแรงกดดันให้ยอมถูกกำกับโดยข้อบังคับที่ไม่เป็นที่เปิดเผย

ข้อเสนอสำหรับข้อบังคับเรื่อง OTT ทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหาของไทยเสียเปรียบประเทศอื่นในภาพรวม ข้อบังคับดังกล่าวจะทำลายความมั่นใจในการลงทุนและยังยั้งการเติบโตผ่านผลกระทบเชิงลบระยะยาวในเศรษฐกิจของไทยทั้งหมด ทั้งยังฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะเป็นประเทศไทย 4.0 อีกด้วย นอกจากนั้น ด้วยความไม่แน่นอนของข้อบังคับและทัศนคติที่ไม่ต้อนรับสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดนวัตกรดิจิทัล นักสื่อสารและผู้ผลิตเนื้อหาอาจทำลายความมั่นใจในการลงทุนจากทุนต่างประเทศต่อไป

AIC หวังว่ารัฐบาลไทย (รวมไปถึง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) จะพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของตัวแสดงเกี่ยวกับ OTT ทั้งในและต่างประเทศบนฐานที่สัมพันธ์กับขีดความสามารถในการแข่งขัน ในฐานะที่เป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุน รวมถึงในฐานะประเทศที่ให้โอกาสสำหรับผู้ผลิตเนื้อหา และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

AIC ยังขอเน้นข้อพิจารณาที่สำคัญดังต่อไปนี้

ผลกระทบจากข้อเสนอของ กสทช. ในระดับโลก

  • การควบคุมบริการ OTT ตามข้อเสนอของ กสทช. ทำให้ไทยแปลกแยกไปจากโลก
  • การควบคุมจะต้องสอดคล้องกับข้อบังคับของไทยภายใต้ข้อตกลงทั่วไปในด้านการค้าและการบริการ (GATS) ในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยภายใต้ GATS ไทยได้ตกลงอนุญาตให้ “บริการการเข้าถึงฐานข้อมูล” และ “บริการข้อมูลออนไลน์” ที่มีลักษณะข้ามพรมแดนและไม่หวงห้ามจำนวนมาก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้รวมไปถึงการบริการที่จัดโดยผู้ให้บริการ OTT
  • การนำข้อตกลง GATS มาใช้ในการควบคุม OTT มีความซับซ้อน หนทางที่ดีที่สุดและเป็นหนทางเดียวสำหรับ กสทช. ที่จะสร้างความมั่นใจว่า ข้อบังคับที่ออกมาจะไม่นำไปสู่ผลกระทบในทางลบกับประเทศคู่ค้าของไทยใน WTO ได้แก่การเปิดให้ร่างข้อบังคับดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใสในกระบวนการร่าง และให้เวลากับผู้ที่ได้รับผลกระทบกับร่างฯ ดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำ
  • ตามที่ข้อตกลงต้องการให้ผู้ให้บริการ OTT เสียภาษีในไทย แม้ในทางกายภาพจะไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ตาม ขัดกับสนธิสัญญาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนนานาชาติและฉันทามตินานาชาติว่าด้วย 1.) กฎว่าด้วยการป้องกันการหลีกเลี่ยงสถานะจัดตั้งถาวร (rules for the prevention of artificial avoidance of permanent establishment status) และ 2.) กฎว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล (rules for taxing the digital economy)  โดยประเทศไทยเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือในประเด็น BEPS (Base Erosion and Profit Shifting - รูปแบบหนึ่งของการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานหลายสาขาทั่วโลก (ที่มา:สำนักนโยบายภาษี กระทรวงการคลัง)) ซึ่งการเข้าร่วมถือเป็นสัญญาณว่าไทยจะรับเอาคำแนะนำจากกรอบความร่วมมือมาใช้
  • การบังคับให้มีภาษีพิเศษเฉพาะกับผู้ให้บริการ OTT สร้างภาพลักษณ์ว่าไทยไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานนานาชาติ ซึ่งอาจทำลายการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้โดยไม่เจตนา

ผลลัพธ์เฉพาะหน้าด้านเศรษฐกิจในประเทศ

  • กรอบความร่วมมือ OTT ของ กสทช. สร้างความเสียเปรียบให้กับธุรกิจขนาดเล็กในทางปฏิบัติ เพราะธุรกิจขนาดเล็กไม่พร้อมจะปฏิบัติตามข้อบังคับที่ยากเช่นนั้น
  • การควบคุมบริการ OTT ในแบบของไทยอาจไม่ได้ผลดังต้องการ เพราะผลของข้อบังคับจะเป็นการไปบังคับการบริการที่มีลักษณะต่างไปจากการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิม ให้มาอยู่ภายใต้ระบอบการควบคุมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพตามธรรมชาติของบริการ OTT ข้อเสนอของ กสทช. จึงมีแนวโน้มชะลอการพัฒนาของ OTT ในไทยมากกว่าการสนับสนุน
  • ผู้ผลิตเนื้อหาของไทยจำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิมของไทยจะถูกลงโทษอย่างหนักเกินไปเพียงเพราะใช้แพลตฟอร์มแบบเปิดในการส่งเนื้อหาที่พวกเขาผลิตไปสู่ผู้ชมในวงกว้าง

AIC ยินดีที่จะได้รับโอกาสให้อ่านและเสนอแนะต่อข้อเสนอใดๆ ที่ได้ร่างขึ้น รวมทั้งเสนอแนะให้ กสทช. ทบทวนการนำแผนการลงทะเบียนและควบคุม OTT ไปใช้ดังที่ได้วางแผนเอาไว้


ด้าน ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ได้กล่าวถึงหนังสือที่ AIC ส่งมาว่า หนังสือที่ทาง AIC ส่งมานั้นปรากฏว่าเคยส่งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลของทั้งเวียดนาม และอินโดนีเซียในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องทำหนังสือตอบกลับ เป็นแค่ล็อบบี้ยีสต์ ตนไม่ให้ราคา และเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะกสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ใช่ภาครัฐ แต่จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมอนุกรรมการ OTT ในสัปดาห์หน้า

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog