ช่างภาพชาวอินเดียนำเสนอภาพถ่ายผู้หญิงใส่หน้ากากวัวประท้วงโดยไร้เสียง ภายใต้คำถามที่ละเอียดอ่อนในสังคมอนุรักษ์นิยม ว่าชีวิตผู้หญิงอินเดียมีค่าน้อยกว่าวัวหรือไม่
กฎหมายคุ้มครองวัวเข้มงวดเป็นอย่างมากในอินเดีย เนื่องจากวัวเป็นสัตว์ศักสิทธิ์ที่ชาวฮินดูส่วนใหญ่เคารพบูชา ซึ่งขัดกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่บริโภคเนื้อวัวเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การถกเถียงกันว่าวัวเป็นสัตว์ที่เอาไว้บูชาหรือเอาไว้บริโภคยังไม่มีจุดจบ แต่กฎหมายคุ้มครองวัวก็เพิ่มความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ โดยการฆ่าวัวถูกแบนในหลายมลรัฐ หากใครฆ่าวัวจะถูกจำคุกยาวนานหลายปีและโดนทำโทษอย่างหนัก ต่างจากคดีข่มขืนและทำร้ายร่างกายผู้หญิงอินเดียที่มีการดำเนินคดีล่าช้า และมักจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเกิดคำถามสำคัญต่อสังคมว่า ชีวิตผู้หญิงมีค่าน้อยกว่าวัวหรือไม่ หากคุ้มครองวัวได้ แล้วทำไมจึงปกป้องผู้หญิงบ้างไม่ได้ คำถามที่ชวนให้สังคมฉุกคิดนี้มาจาก นายสุจาโต โกช ช่างภาพหนุ่มชาวอินเดีย วัย 23 ปี ผู้นำเสนอภาพถ่ายผู้หญิงอินเดียใต้หน้ากากวัว
นอกจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงแล้ว ภาพถ่ายชุดนี้ยังต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของศาลเตี้ยที่มากขึ้นเรื่อยๆของกลุ่มคุ้มครองวัวหรือกลุ่มฮินดูหัวรุนแรง ตั้งแต่พรรคชาตินิยมฮินดู ภาราติยะ ชานาตา หรือ BJP นำโดยนายนเรนทรา โมดิ ชนะการเลือกตั้งในปี 2014 โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคนถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตมากกว่า 10 ราย ในข้อหาต้องสงสัยว่าจะฆ่าวัว บ้างเพราะข่าวลือที่ไม่มีมูล บ้างเพียงเพราะขนส่งวัวเพื่อการรีดนม และในขณะนี้ รัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฏหมายโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมการฆ่าวัว
ทั้งๆที่พรรค BJP มีการออกแถลงการณ์ในช่วงเลือกตั้งว่า "ความปลอดภัยของผู้หญิง" เป็นประเด็นที่ทางพรรคให้ความสำคัญ แต่การแก้ไขปัญหาก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นการกดขี่ผู้หญิงแทนด้วยการออกระเบียบเรื่องการสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิงในที่สาธารณะ ยิ่งกว่านั้นยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่รณรงค์ให้การข่มขืนคู่สมรสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ นายโกชจึงได้ชวนผู้หญิงอินเดียเข้าร่วมการประท้วงโดยการใส่หน้ากากวัวตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประตูชัยอินเดีย ทำเนียบประธานาธิบดี บนเรือในแม่น้ำฮูคลี นครโกลกาตา และที่อื่นๆ เนื่องจากเขาตระหนักได้ถึงภัยอันตรายจากการเมืองกับศาสนาที่ล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงมากเกินไป ผู้หญิงอินเดียที่ได้เข้าร่วมการประท้วงต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การอยู่ภายใต้หน้ากากวัว ทำให้พวกเธอรู้สึกได้ถึงพลังและได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วแล้ว นายโกชเผยแพร่ภาพชุดผู้หญิงใต้หน้ากากวัวลงบนอินสตราแกรม และได้รับความคิดเห็นและเสียงตอบรับดีมาก ภาพชุดดังกล่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในอาทิตย์แรก และเขาได้รับข้อความจากผู้หญิงมากมายจากทั่วทุกมุมโลกว่าพวกเธอก็อยากมีส่วนร่วมกับแคมเปญนี้เช่นกัน หลังจากนั้นไม่นานสื่ออินเดียได้ลงเรื่องราวการประท้วงไร้เสียงผ่านภาพถ่ายนี้ลงบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แต่ปรากฏว่าเสียงตอบรับกลับเป็นการคุกคามและการข่มขู่ผู้หญิงอินเดียที่ประท้วง รวมถึงมีการแจ้งตำรวจนิวเดลี กล่าวหาผู้ประท้วงว่าก่อเหตุจลาจล และเรียกร้องให้จับกุมตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
นายโกชเปิดเผยว่า เขาไม่รู้สึกตกใจกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากหัวข้อดังกล่าวเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ที่เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นถึงอำนาจสูงสุดของศาสนาฮินดูที่อยู่เหนือสังคมอินเดีย และเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำไป เป็นการทำเพื่อสังคมที่ดีกว่าในอนาคต ดังนั้นเขาจึงไม่กลัวต่อการคุกคามใดๆ
Topic