อาเซียน 7 ประเทศ เห็นชอบปรับปรุงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เสริมสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน รวมถึงการจัดตั้งโรงงานจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับภูมิภาคอาเซียน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากส่วนประกอบที่เป็นอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงเกิดการการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน โดยการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASEAN-UNEP IETC Joint Activities on Waste Management ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนและศูนย์เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - International Environmental Technology Centre: UNEP-IETC) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะ 3 ประเภท คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะทั่วไป และของเสียปรอท ในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์ระดับภูมิภาคของอนุสัญญาบาเซล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Basel Convention Regional Centre for South-East Asia: BCRC-SEA) ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมอบหมายให้ สถาบัน AIT, Regional Resource Center in Asia and the Pacific ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะทั่วไป และของเสียปรอท ระยะเวลาดำเนินโครงการช่วงปี พ.ศ. 2558 และสิ้นสุดโครงการ เมื่อเดือนกันยายน 2559
นายจตุพร กล่าวว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าสถานการณ์โดยทั่วไปของอาเซียน ยังขาดข้อมูลปริมาณการผลิต การนำเข้า-ส่งออก การใช้ และระยะเวลาใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังไม่มีระบบการจำแนกประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ชัดเจนเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่นหรือในสหภาพยุโรป ทั้งยังพบกรณีการลักลอบทิ้งและขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ใช้กลไกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับของเสียอันตรายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีเพียงหนึ่งประเทศ คือ กัมพูชาที่มีกฎหมายด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในระดับกฤษฎีกาย่อย และมี 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
จึงได้เกิดข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน ได้แก่ การจัดทำข้อมูลทำเนียบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบโดยใช้แนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของอาเซียน การควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายอย่างผิดกฎหมาย การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่ดี การจัดระบบเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ รวมทั้งการเสริมสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการจัดตั้งโรงงานจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการสารเคมีและของเสีย ครั้งที่ 2 (2nd Meeting of ASEAN Working Group on Chemicals and Waste: 2nd AWGCW) โดยมีตัวแทนจาก 7 ประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ระหว่างวันที่ 7 - 8 มิถุนายน 2560 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เห็นชอบในหลักการต่อรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียนดังกล่าว รวมทั้งผลการศึกษาด้านการจัดการขยะทั่วไป และของเสียปรอท ภายใต้โครงการ ASEAN-UNEP IETC Joint Activities on Waste Management เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) ครั้งที่ 28 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พิจารณารับรองต่อไป