เกรทแบร์ริเออร์รีฟ มีมูลค่าสูงถึง 56,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลีย โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการประมาณมูลค่าด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกรทแบร์ริเออร์รีฟอย่างเป็นทางการ
แนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยาว 2,300 กม. ที่เรียกว่า เกรทแบร์ริเออร์รีฟ นอกชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากผลตรวจสอบในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปะการังฟอกขาว ทำลาย 2 ใน3 ของแนวปะการังดังกล่าว ออสเตรเลียจึงตระหนักว่าต้องมีการป้องกันประการัง ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก โดยหนึ่งในวิธีการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของแนวปะการังแห่งนี้ ก็คือการประเมินตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของเกรทแบร์ริเออร์รีฟอย่างเป็นทางการ โดย Deloitte Access Economics ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจชื่อดังของออสเตรเลีย
รายงานของ Deloitte ซึ่งว่าจ้างให้จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ใช้เวลารวบรวมถึง 6 เดือน โดยประเมินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก พบว่ามูลค่ารวมที่แนวปะการังแห่งนี้มีต่อระบบเศรษฐกิจออสเตรเลีย คิดเป็นเงิน 56,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
และสร้างงานให้แก่คนราว 64,000 คน โดยรายได้สำคัญที่สุดจากเกรทแบร์ริเออรีฟ คือรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นเงิน 29,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 740,000 ล้านบาท
เกรทแบร์รีเออรีฟ ยังถือเป็นโครงสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนโลกและเป็นระบบนิเทศวิทยาธรรมชาติที่มีความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลกอีกด้วย
การเปิดเผยรายงานดังกล่าว มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลกลางกำลังมีโครงการจะก่อสร้างเหมืองถ่านหิน Adani ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นควีนส์แลนด์มองว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อการรอดชีวิตของปะการัง นายสตีเวน ไมล์ส รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของควีนส์แลนด์ กล่าวว่าควีนส์แลนด์ได้ต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลกลางช่วยปกป้องแนวปะการังมาโดยตลอด และเชื่อว่าการร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเกรทแบร์ริเออร์รีฟเป็นสมบัติของชาติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางดูเหมือนว่าจะไม่ยอมรับรู้ถึงวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และยังสนับสนุนแผนสร้างเหมืองแร่ของ Adani ในพื้นที่ห่างจากทะเลราว 300 กิโลเมตรในควีนส์แลนด์
ด้านนายจอร์จ ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีพลังงานและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย กล่าวว่าถ่านหินของออสเตรเลียบริสุทธิ์กว่าที่อื่นๆ จึงมองว่าการเลิกผลิตถ่านหินไม่เพียงแต่จะทำให้ต้องสูญเสียรายได้การส่งออกเป็นพันล้านดอลลาร์ แต่ยังสูญเสียอาชีพอีกหลายพันอาชีพอีกด้วย รวมทั้งจะมีประเทศอื่นขายถ่านหินให้กับอินเดียอยู่ดี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เกรต แบร์รีเออร์รีฟ ตายครั้งใหญ่สุด