สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยสถิติหนี้ครัวเรือน พบสัดส่วนผู้มีหนี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีหนี้ค่อนข้างสูง
วันนี้ (26มิ.ย.)นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊ง ภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทย ผ่านบิ๊กดาต้าของเครดิตบูโร" โดยสถานการณ์หนี้และหนี้เสียในภาพรวมนั้น จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ NCB ที่รวบรวมสถิติสินเชื่อบุคคลของเครดิตบูโร จากสถาบันการเงิน 90 แห่ง ที่มีข้อมูลสินเชื่อ 60.5 ล้านบัญชี ของผู้กู้ 19.3 ล้านคนทั่วประเทศ และมียอดหนี้รวมถึง 9.8 ล้านล้านบาท พบว่า หากวัดสัดส่วนหนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในภาพรวมของไทย ตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ณ ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า ไทยมีหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 71.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งยังสูงในระดับต้นๆของโลก
ส่วนมิติด้านอายุพบว่า คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดย 1 ใน 2 ของคนวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้ โดยคนไทยอายุน้อยกว่า 25 ปี มีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด ร้อยละ 30 ของกลุ่มนี้มีสินเชื่อส่วนบุคคล เปรียบเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 17 ของประชากรทั้งประเทศ และมีสัดส่วนผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหนี้เสียสูงที่สุด ถึงร้อยละ 20 เปรียบเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 15 ของผู้กู้ทั้งประเทศ ขณะที่สัดส่วนของผู้มีสินเชื่อบ้านมีเพียงร้อยละ 4 ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต มีร้อยละ 9 ของคนไทยมีสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งยังถือน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สัดส่วนของคนที่มีบัตรเครดิตมากที่สุด ร้อยละ 20 เป็นกลุ่มวัยเริ่มทำงาน ขณะเดียวกันสินเชื่อบัตรเครดิตก็เป็นสัดส่วนของคนที่มีหนี้เสียสูงสุดด้วย
ส่วนด้านสินเชื่อรถยนต์ มีมากในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน โดยร้อยละ 20 ของกลุ่มวัยเริ่มทำงานจะมีสินเชื่อรถยนต์ และมีสัดส่วนหนี้เสียสูงเกือบร้อยละ 20 เช่นเดียวกับสินเชื่อมอเตอร์ไซด์เป็นสินเชื่อที่มีหนี้เสียสูงสุดถึงร้อยละ 37.2
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมีการกระจุกตัวสูง ผู้กู้รายใหญ่สุดร้อยละ 10 มีหนี้รวมกันถึง ร้อยละ 62.4 ของหนี้ในระบบทั้งหมด สะท้อนถึงการกระจายตัวของหนี้ครัวเรือนเชิงพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า การกระจุกตัวของหนี้มีความแตกต่างกันมากในเชิงพื้นที่ โดยผู้กู้รายใหญ่สุดร้อยละ 10 กระจุกตัวในชุมชนเมืองใหญ่ๆโดยพบว่า กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนผู้มีหนี้สูงที่สุด ขณะที่ผู้กู้ในภาคเหนือ อีสาน และใต้ มีปริมาณหนี้ต่อหัวมากที่สุด และสัดส่วนผู้กู้มีหนี้เสียมากที่สุดอยู่ในภาคใต้ ภาคกลาง และน้อยสุดในภาคเหนือ
ส่วนมิติด้านความสามารถในการชำระหนี้ จำนวนผู้ค้างชำระหนี้ (เกิน 90 วัน) พบว่าปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรมีหนี้ในระบบ เฉลี่ย 147,068 บาทต่อผู้กู้ และ 1 ใน 5 ของคนไทยที่มีหนี้จะมีหนี้เสีย โดยหนี้เสียรายคนอยู่ที่ 56,529 บาท