ไม่พบผลการค้นหา
ภาพวาดใต้โดม ‘ตำหนักสมเด็จ’ ถูกปิดด้วยไม้อัดและปูนฉาบโดยไม่มีใครทราบจนกระทั่งผ่าน 24 มิถุนา 2475 ไปแล้วครึ่งศตวรรษ คนรุ่นหลังเข้าบูรณะ จึงพบว่ามีงานศิลปะล้ำค่าอีกชิ้นอยู่ในวังบางขุนพรหม นิวาสถานบ้านวังซึ่ง ‘ทูนกระหม่อมบริพัตร’ ประทานแก่รัฐบาลก่อนนิราศจากสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาพวาดใต้โดม ‘ตำหนักสมเด็จ’ ถูกปิดด้วยไม้อัดและปูนฉาบโดยไม่มีใครทราบจนกระทั่งผ่าน 24 มิถุนา 2475 ไปแล้วครึ่งศตวรรษ คนรุ่นหลังเข้าบูรณะ จึงพบว่ามีงานศิลปะล้ำค่าอีกชิ้นอยู่ในวังบางขุนพรหม นิวาสถานบ้านวังซึ่ง ‘ทูนกระหม่อมบริพัตร’ ประทานแก่รัฐบาลก่อนนิราศจากสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

 

ในโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมตำหนักใหญ่วังบางขุ��พรหมหลังปิดชั่วคราวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยการเปิดให้เยี่ยมชมครั้งล่าสุดเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560  ทีมข่าว Voice TV ได้ขออนุญาตเข้าไปเก็บบรรยากาศมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเดือนมิถุนายน เดือนที่ตรงกับวันสำคัญและเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งนำเสนอไปแล้วในตอน ‘ชมวังบางขุนพรหมรำลึกถึงเจ้าฟ้าผู้เสียสละ ย้อนอดีตก่อน 24 มิถุนา 2475’ 

 

 

ทั้งนี้ ทีมข่าวได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารแห่งประเทศไทย อนุญาตให้บันทึกภาพภายใน ‘ตำหนักสมเด็จ’ เพื่อนำมาเผยแพร่เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รวมอยู่ในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้ประชาชาชนเยี่ยมชมภายในตำหนัก

 

 

วังบางขุนพรหม ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือ ‘ทูนพระหม่อมบริพัตร’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ล้นเกล้ารัชกาลที่5) และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ก่อนที่พระองค์จะประทานวังแก่รัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และนิราศจากพระนครไปประทับ ณ ตำหนักประเสบัน ถ.เนลันด์ ต.จีประกัน เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย กระทั่งสิ้นพระชนม์ วันที่ 18 มกราคม 2487

 

 

ทูนกระหม่อมบริพัตร ผู้ประทานกำเนิด ‘วังบางขุนพรหม’ โปรดให้สร้าง ‘ตำหนักสมเด็จ’ ถวายเป็นที่ประทับพระมารดา โดยตำหนักหลังนี้มีสถาปัตยกรรมและการตกแต่งด้วยศิลปะแบบนูโว ตกแต่งเรียบง่าย เน้นความโปร่งสบายมีแสงสว่างเข้ามาในอาคาร เป็นศิลปะซึ่งเข้ามาแทนความนิยมสถาปัตยกรรมคลาสสิคแบบเรเนซองซ์ที่ประดับด้วยลายปูนปั้นอันละเอียดอ่อนช้อยแบบบารอคและรอคโคโคอย่างตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมซึ่งสร้างมาก่อน 

 

 

คุณภาณุวัฒน์ พุฒพรึก เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน) ได้บรรยาย ว่า ภายหลังล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตแล้ว เป็นธรรมเนียมที่เจ้านายผู้หญิงจะต้องออกมาประทับนอกวัง ทูนกระหม่อมบริพัตรจึงทรงสร้างตำหนักหลังนี้ขึ้นมาถวายพระมารดา 

 

‘ตำหนักสมเด็จ’ มีสไตล์เยอรมันอาร์ตนูโว ผู้ออกแบบเป็นสถาปนิกชาวเยอรมัน ซึ่งเก่งมากๆ คือ คาร์ล ดอริง* ดังนั้น ตัวตำหนักจึงสวยงามไม่ธรรมดาทั้งเรื่องฟังก์ชั่นการออกแบบและการใช้งาน

 

เมื่อเข้าไปในตำหนักจะมีภาพไฮไลท์หรืออันซีนของแบงก์ชาติเพราะตอนแบงก์ชาติเข้ามาทำงานในปี 2488 ตำหนักสมเด็จคือตึกทำงานหนึ่งของแบงก์ชาติ ซึ่งคนยุคนั้นไม่เคยมีใครเห็นภาพนี้ อยู่ที่โดมบนตัวตึกซึ่งสูงมาก เป็นโดมครึ่งวงกลม มีการปิดภาพเอาไว้โดยไม้อัดและปูนฉาบไว้ทั้งหมด ส่วนด้านล่างเป็นห้องทำงาน ซึ่งเราค้นคว้าจึงทราบในภายหลังว่า ห้องนี้คือห้องบรรทมของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี 

 

 

จนกระทั่งมีการบูรณะซ่อมแซมวังในปี 2530 มีการกระเทาะและแงะเพดานขึ้นมา จึงเจอภาพสำคัญ คือภาพเขียน** ที่เรียกว่าสไตล์เฟสโก้ (ภาพเขียนปูนเปียก) คือคนตะวันตกจะชำนาญวาดรูประหว่างฉาบปูนเปียก เมื่อปูนแห้ง สีจะแห้งตามด้วย ขณะที่ศิลปะของไทยจะเน้นให้ปูนแห้งก่อน แล้วค่อยเพนท์ อย่างภาพในพระอุโบสถในวัด 

 

 

ฉะนั้น เมื่อเราเจอภาพนี้ ภาพมีความคล้องจองหลายอย่าง เป็นภาพผู้หญิง 6 คน ศิลปะสไตล์พรี-ราฟาเอล แต่งกายคล้ายนักบวชแบบกรีกชุดขาว ใบหน้าตะวันตก สไตลล์ฝรั่ง ผมสีบลอนด์ สวยงาม เก็บดอกไม้ ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นดอกกุหลาบหรือเปล่า เพราะมีบันทึกในวังเขียนว่า มีดอกกุหลาบที่นี่ และที่พ้องคือ มีลำธารอยู่ด้านหลัง ซึ่งพ้องกับตำหนักสมเด็จ หันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

 

 


ส่วนผู้หญิง 6 คน โดยนัยยะ ตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนักฝ่ายใน ที่ประทับเจ้าของวังและที่ประทับของพระธิดาท่าน ถ้าเทียบในสายราชสกุลทูนกระหม่อมบริพัตร ท่านมีพระธิดาถึง 6 พระองค์
 
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบง
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธวงษ์วิจิตร
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทรกานตมณี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอินทุรัตนา

 

 

เป็นความคล้องจองจากนัยยะของศิลปินที่ต้องการบ่งบอกความสำคัญด้วยภาพกับสถานที่ แต่เราไม่สามารถสรุปได้ว่า ภาพผู้หญิง 6 คนคือเจ้าหญิงหรือไม่ 


สำหรับการปิดภาพไว้อาจจะมีความหมายถึงการสงวนรักษาได้เช่นกัน ภาพจึงสวยงามถึงปัจจุบันและกรมศิลปากรมาช่วยซ่อมแซม ตำหนักสมเด็จมีอายุ 103 ปี ภาพนี้ก็มีอายุ 103 ปี เช่นกัน

 

บันไดโค้งในตำหนัก เป็นงานออกแบบจุงเกนสติล คือการออกแบบให้พื้นและเพดานสูงโปร่ง ฉะนั้น ตัวบันได จะโค้งวนขึ้นไป และตัวอาคารตำหนักสมเด็จจะแตกต่างจากตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหม เพราะคอนเส็ปการใช้งานต่างกันมาก 

 

 

 

ตำหนักใหญ่คือ ที่ทำงาน ที่พัก ที่บรรทมของจอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องใหญ่โตโอ่อ่า ท่านจบการศึกษาจากยุโรป ได้รับแนวคิดศิลปะยุคเรเนซองส์เข้ามามาก ส่วนอาร์ตนูโวอาจจะไม่มีปูนปั้นโดดเด่นแบบบารอค แต่มีช่องแสงช่องลม ที่รับกับภูมิอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา 

 

 

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ช่องแสงจะรับแสง สะท้อนกับกระจก ซึ่งมีลักษณะปริซึม จะเกิดประกายแสงรุ้งสะท้อนลงพื้นตัวตำหนักอย่างสวยงาม    

 

ภาณุวัฒน์ พุฒพรึก เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บรรยาย

 

*วิศวกรประจำกรมรถไฟในขณะนั้น งานออกแบบในศิลปนูโวของนายช่างเยอรมันอัจฉริยะผู้นี้ยังได้แก่ พระที่นั่งบ้านปืน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดเพชรบุรี วังวรดิศ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ถนนหลานหลวงกรุงเทพฯ เป็นต้น : ที่มา หนังสือ “ชีวิตและงานทูนกระหม่อมบริพัตร” โดย “นวรัตน์ เลขะกุล” หน้า 59 (พิมพ์ปี 2544) 

 

  ** ภาพเขียนในปี 2456 โดยจิตรกรริโกลี่ ชาวอิตาเลียนที่เข้ามาเขียนรูปในพระที่นั่งอนันตสมาคมในยุคนั้น : ที่มา หนังสือ “ชีวิตและงานทูนกระหม่อมบริพัตร” โดย “นวรัตน์ เลขะกุล” หน้า 62 (พิมพ์ปี 2544) 
 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog