ไม่พบผลการค้นหา
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ไทยยังคงอยู่ในศตวรรษที่ 19 เมื่อเปรียบเทียบประวัติศาสตร์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฝรั่งเศส

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ไทยยังอยู่ในศตวรรษที่ 19 เมื่อเทียบกับฝรั่งเศส 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความเข้าใจเหตุการณ์ 2475 ผ่านการเปรียบเทียบ 85 ปีของพัฒนาการการเมืองไทยบนพื้นฐานของพัฒนาการประชาธิปไตยไทยหลัง 2475 เป็นต้นมา ถ้าลองเปรียบเทียบ จะพบว่าหากเอาปีที่อยู่กับรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยและปีที่รัฐบาลไม่ได้มาตามระบอบประชาธิปไตยมาบวกลบกัน พบว่า ความเป็นประชาธิปไตยติดลบอยู่ 8 ปี ซึ่งก็ต้องถือว่าไม่ได้แย่มาก 

อ่านเพิ่ม: 

แม้จะมีการพร่ำบ่นว่าทำไมการเมืองไทยจึงวกเวียนไปมาอยู่เช่นนี้ ขณะที่พลังอนุรักษ์นิยมและคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนพลังที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเติบโตขึ้นทุกวัน และเริ่มมีผู้มองว่าประชาธิปไตยอาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทยจริงๆ 

อ.กนกรัตน์เปรียบเทียบ 85 ปี หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส กับ 85 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยเหตุผลว่า ฝรั่งเศสไม่ได้มีพัฒนาการเป็นเส้นตรง คือไม่ได้เปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วจะเป็นประชาธิปไตยต่อเนื่องสืบมา แต่กลับมีความเปลี่ยนแปลงแบบสวิงมากๆ คือเปลี่ยนจากขั้วหนึ่งไปขั้วหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจสำหรับไทยในการทำมาศึกษาเปรียบเทียบ

การปฏิวัติฝรั่งเศส หลัง 1789 ก็มีความวุ่นวายของกลุ่มปฏิวัติในการขจัดพลังอนุรักษ์นิยม และกำจัดปีกอนุรักษ์นิยม รวมถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติแบบสุดขั้ว หลัง 1789 ไม่ได้มีแต่คนที่เห็นด้วยกับการปฏิวัติสู่ประชาธิปไตย และผู้นำของกลุ่มอนุรักษ์ถูกฆ่าจำนวนมาก และต้องเผชิญกับรัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ และนำไปสู่การยึดอำนาจของนโปเลียนที่ 1 

พูดง่ายๆ คือ 10 ปีหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ก็หันไปหาเผด็จการทหารเพื่อจัดการกับความยุ่งยากวุ่นวาย และอยู่กับนโปเลียน โบนาปาร์ตอยู่ 15 ปี และมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ แต่เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปเป็นกัน 

ชนชั้นสูงไม่ชอบการปฏิวัติ คนธรรมดาก็ไม่ต้องการการปฏิวัติแบบ 1789 อีก เพราะมีความรุนแงรงและเต็มไปด้วยความวุ่นวาย 

ในปี 1830 ก็มีขบวนการแรงงานลุกขึ้นอีกเพราะไม่พอใจในระบอบปกครอง มีการปฏิวัติขับไล่ระบอบ แต่กลับมีการดึงเอาราชวงศ์ใหม่เข้ามา โดยราชวงศ์ใหม่มีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า อย่างไรก็ตามไม่ได้จบลงที่ตรงนี้แต่มีการลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบในอีก 2 ปีต่อมา การต่อสู้ของฝรั่งเศสนั้นรุนแรง ถ้าเทียบกับการเมืองเหลือแดงแล้วถือว่าน้อยมาก

ในปี 1832 มีการปฏิวัติที่ล้มเหลว จนถึงปี 1848 จึงสำเร็จในการล้มระบอบกษัตริย์แล้วจัดตั้งรัฐที่ไม่มีกษัตริย์เป็นครั้งที่ 2 มีการขยายสิทธิทางการเมือง มีโครงการช่วยเหลือความยากจน มีการเติบโตของคนหลากหลายกลุ่ม มีหลายปีก แต่ทำให้คนชั้นนำหวาดกลัวคนจน และแทนที่จะไปสู่ประชาธิปไตย กลับกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่เบื่อความวุ่นวาย เบื่อความขัดแย้งและหันไปหานโปเลียนที่ 3 

หลัง 82 ปี ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เกิดการสังหารหมู่คนที่ต้องการประชาธิปไตย

จากกการเห็นภาพการเมืองฝรั่งเศส คือความวุ่นวาย ฝรั่งเศสยังวนเวียนอยู่กับวงจรการเปลี่ยนแปลงจากถอนรากถอนโคน ประนีประนอม และถอนรากถอนโคนและถูกโต้กลับจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม 

ภายใต้สงครามโลกครั้งที่สอง ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยก็ยังถูกครอบงำโดยประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาด ฝรั่งเศสต้องเจอเดดล็อกทางการเมืองหลายรุ่น 

หลักการแบ่งแยกอำนาจคือนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดี อาจจะมาจากคนละพรรค และแบ่งอำนาจเพิ่งเกิดในปี 1986 ก่อนหน้านั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย 1986 คือปีที่เป็นประชาธิปไตยและมีการสลับขั้วของปีกการเมืองที่มีแนวคิดแตกต่างกันมาก มันไม่ใช่เรื่องทีเกิดขึ้นมานานแล้ว

เราเรียนรู้อะไรบ้าง
หนึ่ง ประชาธิปไตยไม่ได้พัฒนาเป็นเส้นตรง หรือก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ต้องเผชิญกับอำนาจของระบอบเก่าที่ยังคงดำเรงอยู่และต้องเผชิญกับการสู้กันของอำนาจกลุ่มต่างๆ ถ้าถามว่าเราอยู่ตรงไหน ก็อาจเทียบได้ว่าไทยอยู่ในศตวรรษที่ 19 และมาไม่ถึงครึ่งของปฏิวัติฝรั่งเศส ยังไม่ผ่านมาถึงจุดที่ทุกปีกเชื่อว่าอยู่ร่วมกันได้ แต่ยังเชื่อว่าจะสามารถขจัดฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมก็เชื่อว่าต้องจัดการและล้มระบบเก่าให้ได้ ยังมองไม่เห็นวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันได้แบบเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องแตกหักกัน การจะเกิดการอยู่ร่วมกันได้ มันอยู่ที่การเรียนรู้ว่าการขจัดฝ่ายตรงข้ามนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก 

สอง เราคงต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ตลอดชีวิตและไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามวันข้ามคืน ขณะที่ใครก็ตามที่เชื่อเรื่องการจำกัดพื้นที่ทางความคิด และการกำจัดความคิดเรื่องเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างจากที่ตัวเองเชื่อนั้นเป็นเรื่องทีเป็นไปไม่ได้

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิ่งเป็นวงกลมเพราะไม่มีสถาบันใหม่รองรับ 
ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าการเมืองไทยนั้นไม่เดินเป็นระบบ แต่วิ่งเป็นวัฏจักร ปัญหาของวิชารัฐศาสตร์ไทยที่พบคือเราเรียนตำราฝรั่งเป็นตำราของโลกสมัยใหม่ เป็นโมเดลตะวันตกที่เขาสร้างทฤษฎีของเขา แต่ตะวันตกนั้นเดินเป็นเส้นตรงกว่า เป็นการสร้างคุณภาพอันใหม่ ทฤษฎีใหม่ขึ้นมา เช่น กฎหมายต่างๆ ที่รับรองสิทธิของประชาชน ประวัติศาสตร์ของตะวันตกจึงไม่วิ่งกลับไปที่เดิม ไม่เดินเป็นวงกลม ไม่มีการเดินเป็นวงกลมแบบไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเดินเหมือนกันหมด

และที่ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เดินเป็นเส้นตรง หรือเดินเป็นเส้นตรงไม่ได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญคือการสร้างสถาบันสมัยใหม่ทุกอย่างของตะวันตก ตั้งแต่ระบบรัฐสภา ศาล แม้แต่มหาวิทยาลัย ล้วนเป็นระบบที่เสริมความมั่นคงและประสิทธิภาพในการเคลื่อนตัวของรัฐสมัยใหม่ ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีการเคลื่อนตัวของสถาบันใหม่ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องสร้างคือ การสร้างสถาบันใหม่ให้ได้ 

จุดหมายที่รัฐแบบไทยและแบบอุษาคเนย์ถนัดที่สุดและทำมาต่อเนื่องเป็นศตวรรษ คือ “ระเบียบทางศีลธรรม” เป็น “รัฐนาฏกรรม” ต้องสร้างความประทับใจ คติต่างๆ รามเกียรติ์เอย ขุนช้างขุนแผนเอย เป็นการสอนให้คนรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของสังคม คนไม่เท่ากัน คุณต้องเชื่อฟัง 

Modernization ที่เข้ามาในสังคมไทยนั้นเรารับหลายเรื่อง แต่ที่เราไม่รับเลยคือการเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ที่เท่าเทียมกัน 

ในแง่ของนักศึกษาประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จะพบว่า ไทยมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงเอกสารที่ “ละเอียดอ่อน” ต่างๆ กรณี 24 มิถุนายน 2475 ก็มีเอกสารเพียงเล็กน้อย

สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทำคือต้องสร้างความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งอดีตและปัจจุบัน แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์แบบนักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์พูดก็ต้องทำความเข้าใจตัวแทนของแต่ละกลุ่ม เครือข่ายของแต่ละกลุ่ม การรวมตัวของรัฐไทยเป็นการประสานของกลุ่มเครือข่าย แต่คำถามคือประชาชนอยู่ตรงไหน 

ในทางทฤษฎี ตัวรัฐนั้นใหม่ แต่สังคมเก่าแล้ว ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ สังคมต่างหากที่ใหม่ แต่รัฐต่างหากที่เก่า รักษาความเชื่อ รักษาคติดั้งเดิมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐสยามเป็นรัฐที่มีความต่อเนื่องอยู่ย่าวนานมากที่สุดในเอเชียอาจจะรองจากจีนเท่านั้น
 


หมายเหตุ

ติดตามอ่านความเห็นนักวิชาการท่านอื่นซึ่กองบรรณาธิการจะรายงานโดยละเอียดได้ที่นี่


เวทีเสวนา การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์,  ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ณัฐพล ใจจริง คณะสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog