ไม่พบผลการค้นหา
‘เครือเจริญ’ ฝุด 3 โครงการมิกซ์ยูส 1 ศูนย์ประชุม หวังครองพื้นที่ถนนพระราม 4

การกระจายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคมเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ความหวังดังกล่าวเป็นเพียงความฝันที่ห่างไกลเพราะทุกภาคส่วนยังคงมุ่งหน้าเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางเศรษฐกิจไทย

ด้วยเหตุนี้ ราคาที่ดินย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ จึงทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ของกรมธนารักษ์ รอบบัญชี ปี 2559 – 2562 พุ่งขึ้นไปสูงถึง 1,000,000 บาท/ ตารางวา บนถนนสีลม

ขณะที่ถนนเพลินจิต ถนนพระรามที่ 1 และ ถนนราชดำริ มีราคาขอบบนที่ 900,000 บาท/ ตารางวา ขณะที่ราคาขอบบนของถนนสาธร และถนนวิทยุ อยู่ที่ราว 750,000 บาท/ ตารางวา ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในย่านนี้มีแนวโน้มกลายเป็นทุนนิยมผูกขาดสูง

กินหัวกินหางกินกลางตลอด ‘เส้น’

สำหรับผู้เล่นที่หวังเข้ามาครองตลาดอสังหาริมทรัพย์ เส้นถนนพระราม 4 ซึ่งมีราคาประเมินที่ดินอยู่ราว 400,000 – 500,000 บาท/ ตารางวา คือเจ้าพ่อน้ำเมาอย่าง นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

โดยเข้ามาในตลาดผ่านหลายบริษัทลูก ทั้ง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โอลดิ้งส์ (ประเทศไทย), บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด


ONE BKK-วัน แบงคอก

‘วัน แบงค็อก’ (One Bangkok) มิกซ์ยูสบนนถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โอลดิ้งส์ (ประเทศไทย) และ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด คือโครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จากทั้ง 4 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท บนพื้นที่ถึง 104 ไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) พื้นที่สำนักงาน จำนวน 5 ตึก รวมพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร (2) พื้นที่ค้าปลีก 4 ตึก รวมพื้นที่กว่า 180,000 ตารางเมตร (3) อาคารที่พักอาศัย จำนวน 3 อาคาร และ (4) โรงแรม อีกกว่า 1,100 ห้อง

‘ปณต สิริวัฒนภักดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ชี้ว่า กลุ่มเป้าหมายสำหรับอาคารสำนักงานจะเป็นชาวไทยเป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนผู้อยู่อาศัยจะเป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 ขณะที่ผู้เข้าใช้งานโรงแรมจะเป็นชาวไทยเพียงร้อยละ 20 และชาวต่างชาติราวร้อยละ 80


ONE BKK-ปณต สิริวัฒนภักดี

‘ปณต’ ย้ำว่า ‘วัน แบงค็อก’ จะไม่ใช่แค่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศเท่านั้น แต่จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่ของไทยในฐานะที่จดจำแห่งถนนเส้นนั้น และแม้ว่าบนถนนสีลม ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล จะมีโครงการมิกซ์ยูสจากฝั่งโรงแรมดุสิต ‘ซู หลิน ซูน’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก ก็ยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพและศักยภาพที่วัน แบงค็อก มี


“ไม่มีโครงการใดมุ่งมั่นเท่าเรา เราแปลงมาจากทรัพย์สินอันมีค่าของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ปณต กล่าว



สามย่านมิตรทาวน์

ภาพจาก FB: Samyan Mitrtown

ขณะที่ถ้าย้อนขึ้นไปด้านบนของถนนพระราม 4 บริเวณหัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 ‘สามย่านมิตรทาวน์’ กลายเป็นโครงการใหญ่อีกหนึ่งโครงการ บนสัญญาเช่าที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 8,500 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ที่มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 220,000 ตารางเมตร โดยประกอบด้วย 3 ส่วนผสม ดังนี้

(1) โซนรีเทล ภายใต้คอนเซ็ปท์ "คลังอาหารและการเรียนรู้" ที่มีพื้นที่ให้เช่ารวม 36,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของโครงการ และสูงถึง 6 ชั้น

(2) โซนอาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 35 ชั้น บนพื้นที่รวม 65,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของโครงการ

(3) โซนที่พักอาศัย ซึ่งรวมทั้งโรงแรมและคอนโดมิเนียม บนความสูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 36,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 15 ของโครงการ ซึ่งจะเป็นคอนโดมิเนียมแบบเช่าระยะยาวจำนวน 554 ยูนิต และเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์เช่าระยะสั้น 104 ยูนิต

โดยบริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลและพัฒนาโครงการนี้ แท้จริงแล้วเกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 และ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 51


The PARQ roof garden view (003).jpg

ขณะที่โครงการ ‘เดอะ ปาร์ค’ (The Parq) ซึ่งตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ต่อเนื่องกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงจากบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

ด้วยพื้นที่ถึง 23 ไร่ ‘เดอะ ปาร์ค’ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะเป็นการพัฒนาพื้นที่อาคารสำนักงาน 60,000 ตารางเมตร และพื้นที่ค้าปลีกอีก 12,000 ตารางเมตร อย่างไรก็ตามบริษัทยังไม่ได้ออกมาแถลงแนวทางการพัฒนาโครงการในระยะที่สอง


ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ภาพจาก website: qsncc

การปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดูแล คือโครงการสุดท้ายในเส้นทางการครอบครองอสังหาริมทรัพย์บนเส้นพระราม 4 ของ ตระกูลสิริวัฒนภักดี

และแม้ว่าจะต้องใช้เวลาปรับปรุงยาวถึง 3 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดงานจากเดิมประมาณ 20,000 ตารางเมตร เป็นประมาณ 70,000 ตารางเมตร แต่ศักยภาพที่จะรองรับงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และสัญญาการเช่าที่ ที่ เอ็น.ซี.ซี. จะได้รับเพิ่มอีก 50 ปี ก็ดูเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าไม่น้อย

หากไล่ดูพื้นที่โครงการที่ฝุดขึ้นบนเส้นพระราม 4 เรากำลังพูดถึงการลงทุนที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท บนหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในกรุงเทพมหานคร แต่กลับมีตระกูลเดียวเท่านั้นที่เป็นเจ้าของความมั่งคั่งเหล่านี้ แน่นอนว่าในเชิงการลงทุน นี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีอย่างหนึ่ง แต่หากมองในระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน ที่ไทยรั้งอันดับ 1 ของโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง;